วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประกาศเทวดาเขาตก "คำจาฤกฐานเทวรูปเขาตก"

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชดำเนินมาประพาสถึงที่นี้ เสด็จประทับทอดพระเนตรศาลเทพารักษ์นี้แล้ว จึงมีพระบรมราชโองการ ให้อัญเชิญเทพยดาอำนวยก้อนศิลาก้อนหนึ่งในเขานี้ ลงไปกรุงเทพมหานคร แล้วมีพระบรมราชโองการดำรัสให้ช่างสร้างขึ้นเป็นรูปเทวดาอย่างเทวรูปโบราณ เมื่อสำรวจแล้วได้ทรงเฉลิมด้วยจุณจันทร์สุคันธชาติและพระราชทานเทพยบูชา สักการะ แล้วทรงอธิษฐานอัญเชิญเทพยดาซึ่งสถิตในที่เขาตก อันเปํนที่นับถือแห่งคนเป็นอันมากจงสิงสู่อยู่ในเทวรูปนี้ แล้วให้เป็นที่คุ้มเกรงรักษาป้องภยันตรายให้ผลเป็นความสุขสบายแก่ผู้ซื่อตรงคงต่อปฏิญญาในน้ำพระพิพัฒสัตยาให้ลงโทษเทพยทัณฑ์แก่ผู้ไม่ซื่อตรงคงต่อน้ำพระพิพัฒสัตยาซึ่งบรรดาคนเป็นอันมา ได้รับพระราชทานแต่พระเจ้าแผ่นดิน
จาฤกแผ่นกระดานป้ายที่ศาลเจ้าเขาตก
กาษรีสุนทรสร้าง     สมญา
ขานนักษัตรจัตวา     ศกตั้ง
ศักราชพันทวิสตา     เสศสี่  ปีแฮ
สิ้นทรัพย์ห้าชั่งทั้ง     รูปไท้  ปฏิมา
รูปไท้นเรศท้าว    ทาทอง
พระราชโมลีจำลอง     จำหลักอ้าง
เฉกโฉมอิศรผบอง     เผยอยาตร  มาแฮ
กุมขรรคาวุธมล้าง     เหล่าปล้นสาศนา
อาราธนาอารักษท้าว    เชิญเนา
ในตำหนักพนัศเขา     ตกนี้
จงยศพ่อพันหา    หาเปรียบ  ได้ฤา
ฝากกิจการตูก่อนกี้    กอบไว้อย่าสูญ
ดักด่านดูมนุษย์ขึ้น    ลงพลี
ใครคำนับคำนัลมี     ศุกแท้
ใครอาจอาจผลาญชี     พิตรนาศ
ยศท่านศักดิศิทธิ์แล้     เลิศได้เทพา
ขอยศนเรศไท้     ถาวร
จวบสุริยจันทรจร     จากดิ้น
ไตรยภพเปื่อยเปนบอน     สูญโลกย์
ยศพระยศข้าสิ้น    สุดพร้อมมรรคผล
ข้าสร้างกุศลค้ำ    สาศนา
เชิญเทพยศักดามา     ช่วยบ้าง
แล้วเราอย่าโรคา    พรรคพวก  ข้าแฮ
บุญแบ่งเชิญเชียอ้าง     แผ่ท้าวทุกสถาน
ขอชื่อข้าชั่วฟ้า    ฝนฉาว
ขอยศชั่วดาว     ดับไหม้
สมบัติจวบพรหมหาว     เหิรสั่ง
ขอศุขจนจวบได้     ฉัตรแก้วสรรพพัญญ

คำประกาศ
* ข้าพระพุทธเจ้า ก้มเกล้าอัญชลี ศรีรัตนประณมน้อม พร้อมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กายวจีจิตคำนับ รับพระบรมราชโองการ ขอกล่าวสารโฉลกแถลง แสดงใบที่สันนิบาต ประกาศท่ามกลางสงฆ์ แด่เทพยาดำรงค์ทุกแห่ง ทั่วตำแหน่งราชพิมาน แลเทวสถานทุกตำบล จงมีกมลสมโมท บัดนี้โปรดให้ประกาศ เชิญมาสันนิบาตฟัง ยังพระราชพิธีสถาน มานหูทิพย์ตาทิพย์ เห็นเหตุลิบด้วยลับ จงสดับคำประกาศ ว่าพระบาทบรมนารถเป็นเจ้า พระจอมเกล้าเกิดเกษ เสด็จเถลิงนิเวศน์ถวัลยราช สมเด็จบรมนารถนฤบดี มีพระราชโองการ มารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสให้พระยาเพชรรัตน์ขึ้นไปถึงเนินไศลเขาตก ยกไว้แต่โบราณ เป็นสถานเทพยไท้ ได้บวงสรวงขอก้อนศิลา แล้วนำมาถวายได้ ให้สำเร็จพระราชประสงค์ แล้วทรงดำรัสใช้ ให้ช่างชาญจำหลัก เทวรูปสัญลักษณ์สมสถาน แล้วตั้งกาลสมโภช นฤโฆษดุริยดนตรี มโหรีปี่พาทย์ สุคนธชาติทรงเจิม เฉลิมแล้วทรงอธิษฐาน ตามการพระราชประสงค์ ตรัสให้แห่องค์เทวรูป ไปส่งถึงในที่เคยเนา แหล่งขุนเขาเทวสถาน กาลนี้ได้อาราธนา พระราชาคณะสงฆ์ ผู้ทรงศีลคุณทั้งหลาย มาถวายพระพุทธมนต์ เป็นไชยมงคงศรีสวัสดิ์ พิพัฒนสถาพร เชิญเทพยมเหศรศักดิ์สิทธิ์ ที่สถิตย์ในบรรพต ย่อมปรากฏสืบมา แต่ศรีอยุธยาโบราณ ครั้งกาลสมเด็จนรินทร์ พระเจ้าแผ่นดินทรงธรรม อันได้ปฏิสังขรณ์ บวรพุทธบาท เป็นเฉลิมพระนครสืบมา ขอเทพยดาองค์นั้น เชิญชั้นเข้าสิงสู่ อยู่ในเทวรูปศิลา เป็นที่บูชาสืบไป ในกาลกายภาคหน้า ให้เป็นสง่าประชุมชน เดินหนมานมัสการ เจดียฐานพุทธบาท บัดนี้รับพระราชทาน เครี่องสักการพลีกรรม์ อันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าพิภพราชทาน ให้ได้เสพย์ศุขสำราญ ยิ่งกว่ากาลมาก่อน จงเทพยรักษาในระบาท บรมนารถนฤเบนทร์ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดมจตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าจอมสยามให้มีความเจริญใหญ่ยิ่ง เป็นมิ่งมหามงคล สืบพระชนม์เรืองพระยศ ปรากฏเป็นศุภผล สกลศัตรูไกษย แลในพระบาทสมเด็จบวรนารถ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เกษมศุขทั่วถ้วนไป ในพระราชวงษานุวงษ์ สุริยพงษ์เจ้าหล้า ข้าทูลละอองธุลีพระบาท แลราชปริพารทั้งปวง กระทรวงฝ่ายหน้าฝ่ายใน ที่มีใจสวามิภักดิ์ รักษาสัตยานุสัตย์ ต่อน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เทพยดาจงอภิบาล รับสักการบวงสรวง ไภยทั้งปวงช่วยป้อง อย่าให้ต้องอันตราย มลายทุกข์ขุกเข็ญไข้ ให้ทำโทษผู้ทรยศ คิดคดต่อน้ำพระพิพัฒน์ จนถึงพิบัติอันตราย มลายผลาญสังหารชีวิต ด้วยเทวฤทธิ์เทพยทัณฑ์ อันพิฤกให้จงได้ แลขอให้พระเกียรติยศ จงปรากฏทั่วไปในทิศานุทิศ ขอเทวฤทธิ์วัสโสทกธารอุดม ทั่วนิคมอาณาเขต เกษมเกษตรไพศาล ธัญญาหารบริบูรณ์ มูลมั่งคั่งนิคม สรรพอุดมทั่วประเทศ เทพยชูพระเดชเจ้าหล้า คงพระยศอยู่ชั่วฟ้า อย่าให้เสื่อมเทอญฯ

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประวัติเจ้าพ่อเขาตกเก่าหรือน่ำทีมึ้งเหล่าแป๊ะกง

สำหรับศาลเจ้าพ่อเขาตกเดิมนั้น ตั้งอยู่ที่เขาตกห่างจากศาลหลังใหม่นี้ประมาณ 3 กิโลเมตรไปตามเส้นทางถนนสายพระพุทธบาท-ท่าเรือ สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีการบันทึกเรื่องราวศาลเจ้าพ่อเขาตกแห่งนี้ไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ต่อมาเมื่อพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ รับคำสั่งให้ค้นหารอยพระพทธบาท ครั้นทรงพบแล้วจึงโปรดให้ช่างฝรั่งชาติฮอลันดาส่องกล้องตัดถนนทำทางเดิน (ถนนพระเจ้าทรงธรรม) จากอำเถอท่าเรือไปถึงภูเขาสัจจพันธคีรี อันเป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ถนนได้ตัดผ่านทางศาลเจ้าพ่อเขาตกอันเป็นสถานที่ตั้งศาลเจ้าพ่อเขาตกหลังเก่า

เจ้าพ่อเขาตก ที่เรียกว่าเจ้าพ่อเขาตกนี้ คือ เทวรูปสถิตย์อยู่ในศาลเจ้า ตัวศาลตั้งอยู่เชิงเขา เรียกกันว่า เขาตก (คือ เทือกเขามาสุดลงที่ตรงนั้น) อยู่ห่างจากมณฑปพระพุทธบาทไปประมาณ 3 กิโลเมตร

 ศาลเจ้าพ่อเขาตก ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาหรือริมภูเขาตก ริมถนนฝรั่งส่องกล้อง ใกล้ถนนสายพระพุทธบาท บ้านหมอ ปัจจุบันอยู่ท้องที่ตำบลพุกร่าง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึง ถนนฝรั่งส่องกล้อง เป็นถนนที่พระเจ้าทรงธรรมทรงรับสั่งให้ชาวฝรั่งสัญชาติฮอลันดาส่งกล้องตัดป่าเป็นถนนเริ่มจาอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยามายังอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อครั้งพบรอยพระพุทธบาท ได้ใช้เป็นถนนพระราชดำเนินเสด็จมานมัสการ รอยพระพุทธบาท ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และศาลเจ้าพ่อเขาตกก็สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ของเดิมทำด้วยไม้ มีช่อฟ้าใบระกาแต่สมัยนั้นเป็นป่าพงดงดิบ เกิดไฟไหม้ศาลอยู่เสมอๆ ด้วยเหตุนี้เองพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าพระยาพิชัยญาติ เป็นแม่กองขึ้นมาบูรณะซ่อมแซมตัวศาลและที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อเขาตก ทังได้โปรดเกล้าให้พระยาเพชรัตน์สงคราม นำศิลา (หิน) จากภูเขาตกหรือเขาตกนี้ไปให้ช่างฝีมือดีแกะสลักเป็นรูป "เทวรูปเทพารักษ์" : ในท่านั่งชันเข่า สูงประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อมาแทนเทพารักษ์องค์เดิมที่ถูกไฟไหม้ เมื่อแกะสลักเรียบร้อยแล้ว ได้มีการสมโภชอึกทึกครึกโครม แล้วแห่ลงเรือที่ท่าเรือท่าพระมาขึ้นท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำมาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าพ่อเขาตก เมื่อปี พ.ศ. 2404 และต่อมารัชกาลที่ 5 เทวรูปเทพารักษ์ถูกไฟป่าไหม้อีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้พระพุทธาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราขาวาสเมื่อครั้งเป็นพระมงคลทิพมุนี ผู้รักษาการพระพุทธบาทดำเนินการสร้างขึ้นมาใหม่ และสร้างใหม่อีกองค์หนึ่งเป็นเทวรูปทรงเครื่อง สูงประมาณ 1 เมตร เทวรูปองค์นี้ตั้งอยู่หน้าเทวรูปเทพารักษ์ (เจ้าพ่อเขาตก) ชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าตาก" ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมานมัสการรอยพระพุทธบาทเสด็จผ่านมาถึงศาลเจ้าพ่อเขาตก จะทรงหยุดรถพระที่นั่งเสด็จลงมาประทับศาล ทรงจุดธูป เทียน ทอง พรอ้ม เครื่องสังเวย แด่องค์เทพารักษ์ทุกครั้ง บางครังประทับอยู่ ณ ที่นันเป็นชั่วโมงก็เคย พร้อมทั้งมีเจ้าพนักงานมาประโคมด้วยเครื่องแตรสังพิณพาทด้วย

ศาลเจ้าพ่อเขาตก ซ่อมแซมครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2492 เมื่อปี พ.ศ. 2350 "สุนทรภู่" กวีเอกแห่งสยามประเทศ (ประเทศไทย) เมื่อครั้งตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสองค์น้อยของกรมพระวังหลังมานมัสการรอยพระพุทธบาทมาตามเส้นทางสายฝรั่งส่องกล้อง ต้องผ่านหน้าศาลเจ้าพ่อเขาตก สุนทรภู่ยังเขียนถึงเจ้าพ่อเขาตกไว้ใน "นิราศพระบาท" ดังนี้

"พี่แวะเข้าเขาตกคอยนำเสด็จ 
ดูเทเวศร์รักษ์รังสรรค์
เอาเทียนจุดบูชาแก่เทวัญ 
ให้ป้องกันอันตรายในราวไพร"
ดังนั้นใครก็ตามแต่เมื่อผ่านมาถึงศาลเจ้าพ่อเขาตก จะต้องเข้ากราบไหว้ขอพรให้เทพารักษ์เจ้าพ่อเขาตก ช่วยปกปักรักษาป้องกันภยันอันตรายใดๆ ดั่งบทกลอนที่สุนทรภู่ เขียนไว้ เจ้าพ่อเขาตกจึงเปรียบเสมือนองค์เทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ฤทธานุภาพ เพียบพร้อมด้วยเทวธรรม บุญญาธิการมาประทับอยู่ คอยปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และปกป้องคุ้มครอง "รอยพระพุทธบาท" อันเป็นมหาเจดีย์ที่พุทธศาสนิกชนเคารพกราบไหว้บูชาเหนือสิ่งใดๆ หรือถ้าจะเปรียบว่าเจ้าพ่อเขาตกเป็น "นายทวารประตูสู่สวรค์" ก็เห็นจะได้ เพราะใครก็แล้วแต่จะเดินทางเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจะต้องผ่านศาลเจ้าพ่อเขาตกเสียก่อนจึงจะไปถึงรอยพระพุทธบาท เมื่อถึงศาลเจ้าพ่อเขาตกก็ต้องแวะเวียนเข้าสักการะตามความเชื่อถือทั้งชาวจีนและชาวไทย

เนื่องจากเจ้าพ่อเขาตกเป็นองค์เทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะของสาธุชนโดยทั่วไป ผู้ที่มานมัสการรอยพระพุทธบาทแล้วก็จะหาโอกาสมาสักการะบูชาขอความคุ้มครองปกป้องผองภัยอันตรายในการเดินทาง ตลอดถึงขอพรอันศักดิ์สิทธิ์ให้สัมฤทธิผลในกิจการงานน้อยใหญ่ให้เจริญรุ่งเรือง มีความอยู่เย็นเป็นสุขไร้โครคาพยาธิทุกข์ทั้งปวง ปู้ที่มีศรัทธาเชื่อมั่นได้ประสบผลสำเร็จในกิจการงานต่างๆ เป็นจำนวนมา อีกทั้งคณะกรรมการในองค์เจ้าพ่อเขาตกได้จัดตั้งมูลนิธิฯ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ประสบภัยอันตรายต่างๆ ได้ดำเนินงานด้านสาธารณกุศล ส่งเสริมพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีทั้งปวง เพื่อความสมบูรณ์พูสนสุขของพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดังนั้น จึงความตั้งใจปรารถนาให้พี่น้องสาธุชนหรือเยาวชนบุตรหลานได้ศึกษาหาความรู้และความเป็นมาขององค์เจ้าพ่อเขาตกและศาลอันเป็นที่ประทับประดิษฐานองค์พ่อท่านปัจจุบันพร้อมด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการบริหารทุกยุคสมัย ได้สละแรงกายแรงใจปฏิบัติการสานต่อ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเป็นอันมาก ดังปรากฏให้เห็นเป็นสักขีพยานในปัจจุบัน จึงมุ่งมั่นปรารถนาที่จะบันทึกจารึกไว้เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพิธีเปิดศาลหลังใหม่ (ศาลพระกิวอ๋อง) อันเป็นผลงานพัฒนาการของคณะกรรมการบริหารมูลนิธิเจ้าพ่อเขาตกพระพุทธบาทร่วมกันมาทุกๆ สมัย ด้วยตั้งใจว่าหนังสือเล่มนี้จักเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องและสาธุชนรุ่นต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากผู้รู้หลายท่านทำการค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียง คือ คุณวิลาส สุขเกษม, คุณสมจิตร คชฤทธิ์ และคุณบุญเลิศ เสนานนท์ เป็นบรรณาธิการจัดรูปเล่มให้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ในการศึกษาหาประวัติความเป็นมาขององค์เจ้าพ่อเขาตกและประเพณีอันมีมาแต่อดีตกาลอันเป็ฯข้อปฏิบัติ ของคณะกรรมการมูลนิธิเจ้าพ่อเขาตก และหากจะมีข้อบกพร่องประการใดคณะผู้จัดทำยินดีรับฝังคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ทุกเมื่อ

ปัจจุบันนี้มีถนนรถยนต์วิ่งไปถึงศาลเจ้าพ่อเขาตกได้สะดวก ภูมิประเทศในบริเวณนี้ แต่ดิมเป็นป่าเขา มีต้นไม้ใหญ่ๆ ขึนครึ้ม จะหาบ้านช่องผู้คนอาศัยอยู่ไม่ได้สักหลังเดียว ผู้ที่เดินทางผ่านไปจะรู้สึกเงียบวิเวกวังเวงใจเป็นอย่างยิ่ง ในสมัยโบราณการเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทจะต้องผ่านไปทางเขาตกนี้ ผู้ที่ผ่านไปจึงมักจะหยุดพักใต้ร่มไม้ในบริเวณศาลและนมัสการเทพารักษ์ที่ศาล เพื่อขอพรให้เดินทางไปถึงที่หมายได้โดยปลอดภัย แต่ในปัจจุบันป่าดงพงพีอย่างแต่ก่อนไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว ต้นไม้ใหญ่ๆ ได้ถูกโค่นลงจนเกลี้ยง ที่ดินซึ่งว่างเปล่าก็ถูกบุกเบิกทำไร่ทำนากันจนหมดสิ้น มีถนนตัดผ่านไปจึนถึงบ้านหมอ และหนองโดน ฉะนั้น ผู้ที่เดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทในปัจจุบันนี้ได้รับความสะดวกสะบายกว่าแต่ก่อนเป็นอย่า่งมาก