วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557

ข้อความที่สรุปจากการอ่าน (2)

ทฤษฎีของ Vygotsky มีลักษณะสำคัญ

  1. การเรียนแบบร่วมงาน (collaborative learning) หมายถึง การจัดกิจกรรมที่มีลักษณะการเรียนรู้จากการทำงานและการเรียนการสอนเป็นกลุ่ม โดยอาจเรียนแบบร่วมมือ (cooperative learning) ให้ผู้เรีนช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนสามารถพัฒนากลวิธีในการแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ในที่สุด
  2. สแกฟโฟลดิ้ง (scaffolding) หมายถึง การช่วยเหลือ แนะนำ ที่ตรงกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้การพูดกับตนเอง (private speech) หรือการคิดถ้อยคำเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นอยู่ เป็นแนวทาง ในการค้นพบแนวทางการทำงานและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ในที่สุด
เวบสเตอร์ และคณะ (1996) กล่าวว่า สแกฟโฟลดิ้ง ประกอบด้วย กิจกรรม 5 ขั้นตอน คือ

  1. การเชิญชวนให้เข้าร่วมและจัดระบบการทำงาน (Recruitment and management (to task))
  2. การทบทวนความเข้าใจในแนวทางการทำงาน (Representation and clarification (on task))
  3. การพิจารณางานอย่างรอบคอบ (Elaborating (in task))
  4. การสื่อความเข้าใจผ่านการเขียนหรือพิมพ์งาน (Meditation through print/text (about task))
  5. การสรุปงาน (Finishing (after work))
สแฟโฟลดิ้ง จะได้ผลดีควรประกอบด้วย คุณลักษณะ 5 ประการ (Berk and Winsler, 1995) คือ

  1. การแก้ปัญหาร่วมกัน (Join problem solving) คือ การสร้างความกระตือรือร้นต่อสิ่งที่น่าสนใจ มีความหมายทางวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาหรือไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมกัน ระหว่างเด็กกับเด็กหรือเด็กกับผู้ใหญ่
  2. การสร้างความเข้าใจร่วมกัน (Inter subjectivity) คือ กระบวนการที่เริ่มจากผู้ที่มีความเข้าใจต่างกัน มาแลกเปลี่ยนความเข้าใจกัน และการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ในที่สุด การสร้างความเข้าใจร่วมกันจะสร้างความเข้าใจพื้นฐานสำหรับผู้ร่วมงานแต่ละคนในการติดต่อสื่อสารและสร้างทัศนะที่เหมาะสมต่อกันและผู้ใหญ่พยายามสร้างความเข้าใจร่วมกันในขณะถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจของตนให้แก่เด็ก
  3. การตอบสนองอย่างอบอุ่น (warms and responsiveness) คือ การที่ผู้ใหญ่มีการตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ ของเด็กอย่างชื่นชม และเป็นมิตรเพื่อให้เด็กรู้สึกมีความสุข กระตือรือร้นในการทำงานที่ท้าทายความสามารถของตน
  4. การเอาใจใส่ดูแลผู้เรียน (Keep the child in the ZPD) คือ การช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนด้วยการทำงานไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยทำได้ 2 ทาง คือ 1) การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กับความต้องการของเด็ก เช่น ถ้างานนั้นยากเกินไปก็ช่วยทำให้ง่ายขึ้น หรือถ้าเด็กเริ่มเบื่อก็นำเสนองานที่ท้าทายให้ 2) การสอดแทรกในจังหวะที่เหมาะสม คือ การให้ความช่วยเหลือ และการสอนเมื่อเด็กต้องการและคอยสังเกตอยู่ห่างๆ เมื่อเด็กทำงานได้แล้ว
  5. การส่งเสริมการกำกับตนเอง (promote self-regulation) คือ การสนับสนุนให้เด็กกำกับกิจกรรมที่ทำร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยกระตุ้นให้เด็กพยายามแก้ปัญหาจนสำเร็จได้ด้วยตนเองมากกว่าการให้คำตอบสำเร็จรูปและการออกคำสั่งให้เด็กทำตาม เพื่อให้เด็กสามารถทำงานโดยอิสระได้ในที่สุด
วูด (1988) ได้จำแนกระดับของสแกฟโฟลดิ้ง จากน้อยไปมากได้ 5 ระดับ คือ

  1. การให้คำแนะำนอย่างกว้างๆ
  2. การบอกแนวทางในจุดที่เป็นปัญหา
  3. การให้แนวทางเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้
  4. การจัดวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้
  5. การสาธิตให้ดู
บุษบง ตันติวงศ์ (1994) ได้ศึกษาการใช้คำพูดของครู ในลักษณะ สแกฟโฟลดิ้ง พบว่าคำพูดที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ มี 4 ลักษณะ คือ

  1. การให้ข้อมูลป้อนกลับที่มีความหมายกับผู้เรียน หรือ ตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในขณะนั้น
  2. การวิเคราะห์งาน เพื่อทำให้ผู้เรียนเข้าใจงานอย่างชัดเจนและทำให้งานดูง่ายขึ้น
  3. การทบทวนคำพูด หรือ ทบทวนความมุ่งหมายของสิ่งที่กระทำอยู่
  4. การยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะการมีส่วนร่วมได้ตามความสนใจของเขา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น