วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สรุปเนื้อหาการบัญชีขั้นกลาง 1 และระบบสารสนเทศทางการบัญชี (32207) หน่วยที่ 1

รายละเอียดชุดวิชา
คำอธิบายชุดวิชา
32207 การบัญชีขั้นกลาง 1 และระบบสารสนเทศทางการบัญชี (Intermediate Accounting 1 and Accounting Information Systems)
ประกอบด้วย 2 รายวิชา ๆ ละ 3 หน่วยกิต ดังนี้
รายวิชา 32207-1 การบัญชีขั้นกลาง 1 (Intermediate Accounting 1)
คำอธิบายรายวิชา
หลักการและวิธีการบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ การจำแนกประเภทสินทรัพย์ การรับรู้และการวัดมูลค่าสินทรัพย์ การตีราคา การจัดแบ่งส่วนสินทรัพย์เป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายตามหลักการบัญชี การด้อยค่าของสินทรัพย์ การแสดงรายการสินทรัพย์ในงบแสดงฐานการเงินและการเปิดเผยข้อมูล รวมถึง การรับรู้รายได้และการบัญชีสินค้าเกษตรพร้อมทั้งแบบฝึกปฏิบัติเพื่อประมวลความรู้ทางการบัญชีประจำรายวิชา
วัตถุประสงค์ (อันนี้สำคัญมากค่ะ คือหัวใจของข้อสอบค่ะ)
1.      เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการจำแนก การวัดมูลค่า การตีราคา การด้อยค่า และการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์
2.      เพื่อให้สามารถแสด่งรายการและเปิดเผบข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัย์ในงบการเงิน
รายวิชา 32207-2 ระบบสารสนเทศทางการบัญชี (Accounting Information Systems)
คำอธิบายรายวิชา
ลักษณะ ส่วนประกอบ และวิธีการของระบบสารสนเทศทางการบัญชี หลักการจัดทำเอกสารของธุรกิจ หลักการวิเคราะห์และการออกแบบระบบสารสนเทศทางการบัญชี วงจรทางธุรกิจขั้นพื้นฐาน ระบบย่อยของระบบสารสนเทศทางการบัญชีเกี่ยวกับวงจรรายได้ วงจรค่าใช้จ่าย วงจรการผลิต วงจรการบริหารเงิน และรายงานทางการเงิน ประเภทของเอกสารและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องในแต่ละวงจร การควบคุมภายใน ทางเดินเอกสารและสารสนเทศทางการบัญชีที่เกี่ยวข้อง และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาจัดทำบัญชี
วัตถุประสงค์ (อันนี้สำคัญมากค่ะ คือหัวใจของข้อสอบค่ะ)
1.      เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิเคราะห์ การออกแบบและการวางระบบสารสนเทศทางการบัญชี
2.      เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบสารสนเทศทางการบัญชี
3.      เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับคลังข้อมูล การจัดการฐานข้อมูล และการควบคุมภายในของระบบสารสนเทศทางการบัญชี
4.      เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาจัดทำบัญชี


















หน่วยที่ 1 แม่บทการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
ขอสรุปรายละเอียดเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
-          แม่บทการบัญชีเป็นแนวคิดที่เป็นพื้นฐานในการจัดทำและนำเสนองบการเงินให้แก่ผู้ใช้งบการเงิน แม่บทการบัญชีให้แนวทางแก่ผู้จัดทำงบการเงินในการนำมาตรฐานการบัญชีมาถือปฏิบัติ หรือกรณีที่ไม่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม่บทการบัญชีใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติบัญชีได้
-          แม่บทการบัญชีมีขอบเขตเนื้อหาเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ วัตถุประสงค์ของงบการเงินลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน ค่านิยม การรับรู้รายการ และการวัดมูลค่าขององค์ประกอบของงบการเงิน ตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับทุน และการรักษาระดับทุน
-          มาตรฐานการรายงานทางการเงิน หมายถึง มาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละฉบับและมาตรฐานการบัญชีแต่ละฉบับ รวมถึงการตีความมาตรฐานซึ่งกำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยอ้างอิงมาจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ
-          ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 ประเทศไทยมีมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 2 ชุด ได้แก่ 1) มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ซึ่งใช้สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ และ 2) มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำกรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ
-          มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับรายได้ซึ่งกำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชีได้ให้คำนิยามของรายได้ หมายถึง กระแสรับของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมตามปกติของกิจการ เมื่อกระแสรับนั้นส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมถึงเงินทุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ
-          รายได้จำแนกประเภทออกเป็น 3 อย่าง คือ 1) รายได้จากการขายสินค้า 2) รายได้จากการให้บริการและ 3) รายได้จากการให้ผู้อื่นใช้สินทรัพย์ของกิจการซึ่งก่อให้เกิดรายได้ในรูปของดอกเบี้ย ค่าสิทธิ และเงินปันผล รายได้แต่ละประเภทมีเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรู้รายได้แตกต่างกันไป กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้แต่ละประเภทในงบการเงินตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนดไว้
-          แม่บทการบัญชี หมายถุง แนวคิดที่เป็นพื้นฐานในกรจัดทำและนำเสนองบการเงินให้แก่ผู้ใช้งบการเงินที่เป็นบุคคลภายนอก วัตถุประสงค์ของแม่บทการบัญชีเพื่อแนวทางสำหรับคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีใช้ในการพัฒนาหรือทบทวน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้จัดทำงบการเงินในการนำมาตรฐานการบัญชีมาถือปฏิบัติ หรือในกรณีที่ไม่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ สามารถใช้แม่บทการบัญชีเป็นแนวทางในการปฏิบัติบัญชีได้ และเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจความหมายของข้อมูลที่แสดงในงบการเงินได้ดีขึ้น
-          แม่บทการบัญชีเกี่ยวข้องกับงบการเงินที่จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์โดยทั่วไป มีขอบเขตเนื้อหาดังนี้ 1) วัตถุประสงค์ของงบการเงิน 2) ลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน 3) คำนิยาม การรับรู้รายการและการวัดมูลค่าขององค์ประกอบของงบการเงิน และ 4) แนวคิดเกี่ยวกับทุน และการรักษาระดับทุน
-          วัตถุประสงค์ของงบการเงิน คือ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการต่อผู้ใช้งบการเงินหลายกลุ่มในการนำไปใช้ตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ ผู้ใช้งบการเงินมี 7 กลุ่มได้แก่ 1) ผู้ลงทุน 2) ผู้ให้กู้ 3) ผู้ขายสินค้า 4) ลูกจ้าง 5) ลูกค้า 6) รัฐบาลและหน่วยงานราชการ และ 7) สาธารณชน นักบัญชีมีข้อสมมติฐานในการจัดทำงบการเงิน 2 ข้อ คือ 1) เกณฑ์คงค้าง และ 2) การดำเนินงานต่อเนื่อง
-          ลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงินแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1) ระดับคุณภาพหลัก ได้แก่ ความเข้าใจได้ ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ความเชื่อถือได้ และการเปรียบเทียบกันได้ และ 2) ระดับคุณภาพรองเป็นการขยายระดับคุณภาพหลักบางเรื่องออกมา ข้อจำกัดของงบการเงินได้แก่ 1) ความสมดุลระหว่างความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและความเชื่อถือได้ของข้อมูล 2) ความสมดุลระหว่างประโยชน์กับต้นทุน
-          องค์ประกอบของงบการเงิน ได้แก่ 1) สินทรัพย์ 2) หนี้สิน 3) ส่วนของเจ้าของ 4) รายได้ และ 5) ค่าใช้จ่าย การรับรู้รายการขององค์ประกอบของงบการเงินมีหลักเกณฑ์ 2 ข้อ คือ 1) รายการนั้นเป็นไปตามคำนิยามขององค์ประกอบของงบการเงิน และ 2) รายการนั้นเข้าเกณฑ์หรือเงื่อนไขของการรับรู้รายการ เมื่อครบ 2 ข้อ คือ 2.1) มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับหรือสูญเสียประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต และ 2.2) รายการดังกล่าวมีราคาทุนหรือมูลค่าที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ
-          เกณฑ์การวัดมูลค่าขององค์ประกอบของงบการเงิน มี 4 อย่าง คือ 1) ราคาทุนเดิม 2) ราคาทุนปัจจุบัน 3) มูลค่าที่จะได้รับ (จ่าย) และ 4) มูลค่าปัจจุบัน กิจการจะวัดมูลค่าโดยใช้เกณฑ์ใดขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของมาตรฐานการบัญชีในเรื่องนั้นๆ
-          แนวคิดเกี่ยวกับทุนมี 2 แนวคิด คือ 1) ทุนทางการเงิน และ 2) ทุนทางกายภาพ ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาระดับทุนมี 2 แนวคิด เช่นกัน คือ 1) การรักษาระดับทุนทางการเงิน และ 2) การรักษาระดับทุนทางกายภาพ
-          การพัฒนาแม่บทการบัญชีเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2008 เมื่อคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีของสหรัฐอเมริกา กับคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศได้กำหนดแผนการดำเนินการพัฒนาแม่บทการบัญชีหรือกรอบแนวคิดร่วมกัน เรียกว่า โครงการกรอบแนวคิดร่วม ใน ค.ศ. 2012 โครงการดังกล่าวเสร็จไปบางส่วนแล้ว เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะทำให้แม่บทการบัญชีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
-          มาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นมาตรฐานและการตีความที่ออกโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) มาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละฉบับ 2) มาตรฐานการบัญชีแต่ละฉบับ 3) การตีความมาตรฐานการบัญชีแต่ละฉบับ และ 4) การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละเรื่อง เมื่อมาตรฐานการรายงานทางกรเงินประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
-          งบการเงินที่จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปต้องจัดทำขึ้นตามข้อกำหนดทั้งหมดในมาตรฐานกรรายงานทางการเงิน เพื่อให้ข้อมูลในงบการเงินถูกต้องตามที่ควร และสามารถตอบสนองความต้องการร่วมกันของผู้ใช้งบการเงินหลายฝ่ายได้
-          มาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละฉบบประกอบด้วย 5 อย่างได้แก่ 1) คำนิยาม 2) การรับรู้รายการ 3) การวัดมูลค่ารายการ 4) การเลิกรับรู้รายการ และ 5) การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูล ทั้งนี้มาตรฐานการรายงานทางการเงินบางฉบับอาจมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนทั้ง 5 อย่างก็ได้
-          องค์กรที่กำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1) ระดับสากล ได้แก่ คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ และ 2) ระดับประเทศ สำหรับประเทศไทย ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์
-          กระบวนกรกำหนดมาตรฐานกรรายงานทางการเงินของประเทศไทยโดยสรุปมีดังนี้ 1) จัดทำแผนการพัฒนาหรือปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 2) ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 3) จัดประชุมเฉพาะกลุ่มและทำประชาพิจารณ์ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 4) แก้ไขร่างมาตรฐานดังกล่าว เสนอสภาวิชาชีพบัญชีและคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี 5) นำมาตรฐานฉบับสมบูรณ์ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่ต่อไป
-          ประเทศไทยมีมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 2 ประเภท หรือชุด ได้แก่ 1) มาตรฐานการายงานทางการเงิน ใช้สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ และ 2) มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ
-          มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ใช้สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะหรือมาตรฐานชุดใหญ่ของประเทศไทยอ้างอิงมาจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ
-          มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือมาตรฐานชุดเล็กของประเทศไทยเป็นไปตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ฉบับที่ 20/2554
-          รายได้ หมายถึง กระแสรับของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจก่อนหักค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมการปกติของกิจการ เมื่อกระแสรับนั้นส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมถึงเงินทุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ รายได้จำแนกเป็น 3 ประเภท คือ 1) รายได้จากการขายสินค้า 2) รายได้จากการให้บริการ และ 3) รายได้ในรูปดอกเบี้ย ค่าสิทธิและเงินปันผลเกณฑ์การรับรู้รายได้ตามแม่บทการบัญชี (ปรับปรุง 2552) คือ กิจการต้องรับรู้รายได้ในงบกำไรขาดทุน เมื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สิน และเมื่อกิจการสามารถวัดค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างน่าเชื่อถือ
-          รายได้จากการขายสินค้ามีเงื่อนไขของการรับรู้รายได้ 5 ข้อ คือ 1) การโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนให้ผู้ซื้อแล้ว 2) ผู้ขายไม่ได้เกี่ยวข้องในการบริหารสินค้าอย่างต่อเนื่อง 3) การวัดมูลค่าของจำนวนรายได้ได้อย่างน่าเชื่อถือ 4) ความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากรายการบัญชีนั้น และ 5) การวัดมูลค่าของต้นทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ
-          รายได้จากการให้บริการมีเงื่อนไขของการรับรู้รายได้ 4 ข้อ คือ 1) การวัดมูลค่าของจำนวนรายได้ได้อย่างน่าเชื่อถือ 2) ความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากรายการบัญชีนั้น 3) การวัดขึ้นความสำเร็จของรายการบัญชีได้อย่างน่าเชื่อถือ และ 4) การวัดมูลค่าของต้นทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ

-          รายได้ในรูปดอกเบี้ย ค่าสิทธิและเงินปันผลมีเงื่อนไขของการรับรู้รายได้ 2 ข้อ คือ 1) ความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากรายการบัญชีนั้น และ 2) การวัดมูลค่าของจำนวนรายได้ได้อย่างน่าเชื่อถือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น