วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

32207 หน่วยที่ 13

หน่วยที่ 13 ระบบสารสนเทศทางการบัญชีด้านการผลิตและสินค้าคงเหลือ
-          ในการดำเนินกิจกรรมของกิจการนั้น กิจการที่ทำการผลิตต้องทำการผลิตสินค้าเพื่อมีไว้ขาย โดยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตประกอบด้วย ความหมายและวัตถุประสงค์ของการผลิตกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การนำระบบสารสนเทศทางการบัญชีด้านการผลิตมาใช้งาน และภัยคุกคามและการควบคุมในวงจรการผลิตเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
-          ระบบสินค้าคงเหลือถูกใช้เพื่อควบคุมระดับวัตถุดิบงานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป ในการทำความเข้าใจระบบสินค้าคงเหลือควรเข้าใจเกี่ยวกับระบบสินค้าคงเหลือ ฐานข้อมูล รายงาน ภัยคุกคาม และการควบคุมระบบสินค้าคงเหลือ
-          วงจรการผลิตจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการแปลงวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่มีไว้เพื่อขาย ในการผลิตสินค้ากิจการสามารถใช้วิธีการผลิตแบบต่อเนื่อง การผลิตแบบรุ่น และการผลิตแบบทำตามคำสั่ง โดยวัตถุประสงค์ของวงจรการผลิตคือความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตสินค้า วงจรการผลิตจะเกี่ยวข้องกับวงจรรายได้ วงจรค่าใช้จ่าย ระบบเงินเดือน ค่าจ้าง และระบบบัญชีแยกประเภททั่วไป
-          กิจกรรมในวงจรการผลิตประกอบด้วย 4 กิจกรรมด้วยกันคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การวางแผนการผลิตและตารางการปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานด้านการผลิต และการบันทึกบัญชีต้นทุน โดยกิจกรรมต่างๆ มีรูปแบบการทำงาน เอกสารและแบบฟอร์ม และมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักบัญชีแตกต่างกันออกไป
-          ระบบสารสนเทศทางการบัญชีด้านวงจรการผลิตจะเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลต้นทุนพื้นฐาน 3 ประเภทคือ วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงทางตรง และค่าใช้จ่ายในการผลิต อนึ่งกิจการเป็นจำนวนมากมักนำระบบสารสนเทศทางการบัญชีด้านวงจรการผลิตที่เป็นอัตโนมัติมาใช้เพื่อช่วยในการประมวลผล ซึ่งต้องมีการจัดสร้างฐานข้อมูลที่นำมาใช้ในการประมวลผลระบบสารสนเทศและรายงานหลักของวงจรการผลิต
-          เนื่องจากระบบสารสนเทศของวงจรการผลิตอาจมีจุดบกพร่องที่ก่อให้เกิดจุดอ่อนได้ ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดจุดควบคุมภายในเพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นกับระบบโดยภัยที่อาจเกิดขึ้นกับระบบอาจเกิดขึ้นกับแต่ละกิจกรรมในวงจรการผลิต ดังนั้น การควบคุมจึงเน้นที่การควบคุมแต่ละกิจกรรมในวงจรการผลิต
-          ระบบสินค้าคงเหลือเป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลสินค้า โดยจะแจ้งให้ผู้บริหารทราบเมื่อจำนวนสินค้ามีน้อยกว่าที่กำหนดและต้องทำการสั่งซื้อเพิ่มเติม ซึ่งสินค้าในที่นี้อาจเป็น วัตถุดิบ งานระหว่างทำ หรือสินค้าสำเร็จรูป ในการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือสามารถบันทึกได้สองประเภทคือ วิธีการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือแบบสิ้นงวดและแบบต่อเนื่อง
-          ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบสินค้าคงเหลือ ประกอบด้วย ตารางความต้องการวัตถุดิบ ตารางคำสั่งซื้อวัตถุดิบ ตารางการรับวัตถุดิบ พนักงาน ผู้ขายสินค้า และคลังสินค้า
-          ระบบสินค้าคงเหลือประกอบด้วยรายงานที่เกี่ยวข้อง คือ รายงานสถานภาพของสินค้า รายงานการสอบถามเกี่ยวกับสินค้า รายงานการใช้วัตถุดิบ รายงานสินค้าที่ถึงจุดสั่งซื้อ และรายงานการตรวจนับสินค้าคงเหลือ

-          ภัยคุกคามระบบสินค้าคงเหลือประกอบด้วย สินค้าขาดมือ สินค้ามีมากเกินไป และสินค้าถูกขโมยหรือสูญหาย ซึ่งการควบคุมทำโดยจดบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือแบบต่อเนื่อง จัดหาสินค้าด้วยระบบทันที จัดเก็บสินค้าในที่ที่ปลอดภัยและมีการตรวจนับสินค้าทางกายภาพอย่างสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น