วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

32207 หน่วยที่ 7

หน่วยที่ 7 สินทรัพย์ไม่มีตัวตนและค่าความนิยม
-          สินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีลักษณะเชิงกายภาพ โดยทั่วไปจะครอบคลุมถึงสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้า การให้ใช้สิทธิ์ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น ทั้งนี้กิจการจะต้องรับรู้ วัดมูลค่าและตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนตามระยะเวลาที่ได้รับประโยชน์ การแสดงรายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นจะแสดงในงบแสดงฐานะการเงินภายใต้สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนและเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินได้กำหนดไว้
-          รายจ่ายวิจัยและพัฒนา รายจ่ายเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์และต้นทุนเว็บไซต์โดยทั่วไปไม่ถือเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แต่จะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่เกิดรายการขึ้น อย่างไรก็ตาม รายจ่ายในช่วงของการพัฒนา ถ้าเข้าเงื่อนไขต้นทุนพัฒนาที่จะรับรู้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนแล้วจึงจะบันทึกเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนและตัดจำหน่ายตามอายุการให้ประโยชน์
-          ค่าความนิยมแสดงถึงการที่กิจการมีประสิทธิภาพในการหากำไรสูงกว่าปกติเมื่อเปรียบเทียบกับกิจการประเภทเดียวกัน โดยทั่วไปกิจการจะกำหนดมูลค่าของค่านิยมได้เมื่อมีการซื้อขายกิจการ โดยใช้ผลต่างของราคาซื้อที่สุงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิ และผู้ซื้อจะเป็นผู้บันทึกบัญชีค่าความนิยมทั้งนี้กิจการไม่มีการตัดจำหน่ายค่าความนิยม แต่ต้องการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยมเป็นประจำทุกปีและบันทึกบัญชีเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าค่าความนิยมนั้นมีการด้อยค่า
-          สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีลักษณะทางกายภาพ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการและกิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต การแบ่งประเภทของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดยพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องของสินทรัพย์อาจแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์และออกแบบผลิตภัณฑ์ 2) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์ 3) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับการตลาด 4) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับสัญญา และ 5) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า
-          การรับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนเมื่อเข้าเกณฑ์ที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด คือ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนาคตจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะใช้ราคาทุน โดยอาจแบ่งได้เป็น 5 กรณีตามวิธีการได้มา คือ 1) การได้มาแยกต่างหาก 2) การได้มาจากการรวมธุรกิจ 3) การได้มาจากการอุดหนุนของรัฐบาล 4) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยน และ 5) การเกิดขึ้นภายในกิจการเอง สำหรับการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการมี 2 วิธี คือ วิธีราคาทุนและวิธีการตีราคาใหม่
-          สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ทราบแน่นอน กิจการต้องตัดจำหน่ายตามอายุการให้ประโยชน์ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ วิธีเส้นตรง วิธียอดคงเหลือลดลง และวิธีจำนวนผลผลิต สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน กิจการต้องไม่ตัดจำหน่ายสินทรัพย์นั้น ทั้งนี้กิจการต้องทดสอบการด้อยค่าเป็นรายปี และบันทึกบัญชีเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์นั้นมีการด้อยค่า นอกจากนี้ ยังต้องทบทวนการประเมินอายุการให้ประโยชน์ทุกปีอีกด้วย
-          สินทรัพย์ไม่มีตัวตนแสดงรายการภายใต้หัวข้อสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในงบแสดงฐานการเงินสำหรับการเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินนั้น กิจการจะต้องเปิดรายละเอียดเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนแต่ละประเภท โดยแบ่งแยกระหว่างสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดขึ้นภายในกับสินทรัพย์ไม่ตัวตนประเภทอื่น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลอื่นตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด
-          รายจ่ายวิจัยและพัฒนามักส่งผลให้เกิดสิ่งใหม่ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนบางชนิดแต่การวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ดังนั้น จึงต้องรับรู้รายจ่ายวิจัยและพัฒนาเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่เกิดรายการขึ้น ยกเว้นรายจ่ายในขั้นตอนการพัฒนาเฉพาะที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชี จึงจะถือเป็นต้นทุนของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
-          โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่กิจการซื้อมาเพื่อขายจะถือเป็นสินค้าคงเหลือ ในกรณีที่กิจการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์ขึ้นใช้เองหรือเพื่อการค้า รายจ่ายวิจัยและพัฒนาดังกล่าวจะตัดเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดรายการนั้นๆ แต่ถ้าการพัฒนามีความก้าวหน้า มีประโยชนเชิงเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งมีสิทธิในการควบคุมการใช้ประโยชน์และต้นทุนกำหนดได้อย่างน่าเชื่อถือแล้วรายจ่ายหลังจากการมีความก้าวหน้าดังกล่าวที่เข้าเงื่อนไขการรับรู้ตามมาตรฐานการบัญชีจึงถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
-          ค่าความนิยม หมายถึง สินทรัพย์ที่แสดงถึงผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่จะได้รับจากสินทรัพย์อื่นที่ได้มาจากการรวมธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถระบุและรับรู้เป็นรายการแยกออกมาให้ชัดเจนได้ ค่าความนิยมของกิจการแสดงถึงการที่กิจการมีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับกิจการประเภทเดียวกัน

-          การวัดมูลค่าของค่าความนิยมจะใช้ราคาทุนซึ่งเป็นผลต่างของราคาที่ซื้อกิจการอื่น กับมูลค่าสุทธิของกิจการนั้น และเมื่อสิ้นงวดกิจการจะต้องทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยมหากมีการด้อยค่าของค่าความนิยม หากมีข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าก็จะมีบัญชีผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมเป็นบัญชีปรับมูลค่าค่าความนิยม นอกจากนี้ กิจการจะต้องเปิดเผยนโยบายการบัญชีและข้อมูลเพิ่มเติมไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น