วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

32207 หน่วยที่ 6

หน่วยที่ 6 ค่าเสื่อมราคา การด้อยค่า และค่าสูญสิ้น
-          ค่าเสื่อมราคาเป็นการปันส่วนมูลค่าเสื่อมสภาพของสินทรัพย์อย่างมีระบบ ตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการจับคู่ค่าใช้จ่ายกับรายได้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการคิดค่าเสื่อมราคา มีหลายประการ หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไป กิจการก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงค่าเสื่อมราคาใหม่โดยใช้วิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป
-          การด้อยค่าเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี ซึ่งกิจการจะต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนในงวดที่เกิดการด้อยค่า ยกเว้นกรณีที่กิจการเคยตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม ให้นำผลขาดทุนจากการด้อยค่าไปหักออกจากส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์เพิ่มก่อน
-          ค่าสูญสิ้นเป็นการปันส่วนต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติไปเป็นค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติส่วนที่ขายได้ในแต่ละงวด ส่วนวิธีการปันส่วนนั้นจะใช้วิธีการเดียวกับการคิดค่าเสื่อมราคาตาวิธีจำนวนผลผลิต
-          ค่าเสื่อมราคา หมายถึง การปันส่วนจำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์อย่างมีระบบ ตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น การคิดค่าเสื่อมราคามีความสำคัญเพราะจะมีผลทั้งต่อการคำนวณกำไรขาดทุนและการแสดงฐานะการเงินของกิจ กิจการต้องเริ่มคิดค่าเสื่อมราคาเมื่อสินทรัพย์นั้นพร้อมที่จะใช้งาน และจะสิ้นสุดการคิดเมื่อกิจการตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี หรือจัดประเภทสินทรัพย์นั้นเป็นสินทรัพย์ถือไว้เพื่อขายแล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน
-          วิธีคิดค่าเสื่อมราคามีอยู่มากมายหลายวิธี วิธีที่นิยมได้แก่ วิธีเส้นตรง วิธีอัตราเร่งหรือวิธียอดคงเหลือลดลง และวิธีจำนวนผลผลิตหรือวิธีกิจกรรม กิจการต้องเลือกใช้วิธีคิดค่าเสื่อมราคาที่สะท้อนรูปแบบของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตของสินทรัพย์อย่างแท้จริง
-          กิจการควรมีการทบทวนวิธีการคิดค่าเสื่อมราคา ทบทวนอายุการให้ประโยชน์และมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์อย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าพบว่ารูปแบบประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตจากสินทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ กิจการต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาเพื่อสะท้อนถึงรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป
-          สินทรัพย์จะถือว่าด้อยค่าเมื่อมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี ข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์อาจะเกิดการด้อยค่า มีทั้งจากแหล่งข้อมูลภายนอกและแหล่งข้อมูลภายใน
-          มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน หมายถึง มูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย หรือมูลค่าจากการใช้สินทรัพย์นั้น แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ในการวัดมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน บางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องทราบทั้งมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขายและมูลค่าจากการใช้หากทราบว่ามูลค่าใดมูลค่าหนึ่งสูงกว่ามูลค่าตามบัญชีเนื่องจากกรณีนี้จะถือว่าสินทรัพย์นั้นไม่ด้อยค่า
-          กิจการต้องบันทึกลดมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ลงให้เท่ากับมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนเมื่อมูลค่าตามบัญชีสูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์นั้น ซึ่งส่วนที่ลดลงก็คือผลขาดทุนจากการด้อยค่า โดยกิจการจะต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนในงวดที่เกิดการด้อยค่า ยกเว้นกรณีที่กิจการเคยตีราคาสินทรัพย์เพิ่มให้นำผลขาดทุนจากการด้อยค่าไปหักออกจากส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ก่อน
-          หน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด หมายถึง กลุ่มสินทรัพย์ที่เล็กที่สุดที่สามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดรับซึ่งเป็นอิสระจากสินทรัพย์อื่นหรือกลุ่มสินทรัพย์อื่น หากมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของหน่วยสินทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีของหน่วยสินทรัพย์นั้น จะถือว่าหน่วยสินทรัพย์นั้นเกิดการด้อยค่า
-          เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่แสดงว่าผลขาดทุนจากการด้อยค่าที่กิจการได้รับรู้ในงวดก่อนๆ ได้สิ้นสุดลงหรือลดลง กิจการต้องกลับรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าโดยบันทึกเพิ่มมูลค่าตามบัญชีให้เท่ากับมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์ แต่ราคาต้องไม่สูงกว่ามูลค่าตามบัญชีที่ควรเป็นหากกิจการไม่เคยรับรู้การด้อยค่าและกิจการต้องรับรู้ราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นรายได้ทันที โดยรับรู้ได้ไม่เกินผลขาดทุนจากการด้อยค่าที่กิจการเคยรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดก่อนๆ
-          กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลขาดทุนจากการด้อยค่าในงบการเงิน ทั้งจำนวนขาดทุนที่กิจการรับรู้หรือกลับรายการ และข้อมูลอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชี
-          ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง ทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้ โดยสามารถให้ประโยชน์แก่กิจการได้เป็นระยะเวลาหลายปี ดังนั้นกิจการจึงจำเป็นต้องมีการกระจายต้นทุนหรือมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นค่าใช้จ่ายประจำงวดตามประโยชน์ที่กิจการได้รับในแต่ละปี ซึ่งวิธีการกระจายต้นทุนดังกล่าวจะเรียกว่าการตัดค่าสูญสิ้น
-          กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์ที่เกิดจากการสำรวจและการประเมินค่าเมื่อเริ่มแรกโดยใช้ราคาทุนแต่ภายหลังการรับรู้รายการกิจการอาจเลือกใช้วิธีราคาทุน หรือวิธีการตีราคาใหม่ กิจการต้องจัดประเภทรายการสินทรัพย์ตามลักษณะของสินทรัพย์ที่ได้มาและต้องทดสอบการด้อยค่าของสินทรัพย์เมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์อาจเกิดการด้อยค่ารวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่มาตรฐานบัญชีกำหนด
-          การคิดค่าสูญสิ้นจะมีวิธีการที่คล้ายคลึงกับการคิดค่าเสื่อมราคาวิธีจำนวนผลผลิต ค่าสูญสิ้นที่คำนวณได้ในแต่ละงวดจะถือว่าเป็นต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับในงวดนั้น โดยเมื่อขายออกไปจะถือว่าเป็นต้นทุนขายซึ่งจะแสดงไว้ในงบกำไรขาดทุน ส่วนที่ได้มาแต่ยังขายไม่หมดในงวดนั้นจะถือเป็นสินค้าคงเหลือซึ่งจะแสดงไว้ในงบแสดงฐานะการเงิน

-          การดำเนินงานเกี่ยวกบทรัพยากรธรรมชาติมักจะประสบกับความไม่แน่นอนในหลายด้านจึงทำให้สิ่งที่กิจการได้ประมาณการไว้มีความคลาดเคลื่อน ในบางกรณีกิจการจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอัตราค่าสูญสิ้นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี โดยจะต้องใช้วิธีการเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไปและต้องเปิดเผยข้อมูลถึงสาเหตุและผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น