วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

32207 หน่วยที่ 3

หน่วยที่ 3 สินค้าคงเหลือ
-          สินค้าคงเหลือจัดเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนซึ่งมีอยู่ในกิจการทั้งประเภทพาณิชยกรรม กิจการผลิตกรรมและกิจการบริการ กิจการต้องคำนวณต้นทุนของสินค้าคงเหลือตามทีมาตรฐานการบัญชีกำหนด สำหรับการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือมี 2 วิธี คือ วิธีบันทึกบัญชีสินค้าเมื่อสิ้นงวด และวิธีบันทึกบัญชีสินค้าแบบต่อเนื่อง
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามเกณฑ์ราคาทุนมีหลายวิธีที่สำคัญ ได้แก่ วิธีราคาเจาะจง วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก วิธีเข้าก่อนออกก่อน และวิธีเข้าหลังออกก่อน ซึ่งแม้ว่ามาตรฐานการบัญชีไทยไม่อนุญาตให้ใช้วิธีเข้าหลังออกก่อนในทางปฏิบัติ แต่ในหน่วยการสอนนี้จะได้อธิบายไว้เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาทางทฤษฎีและมีการปฏิบัติกันในต่างประเทศ ที่สำคัญได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามเกณฑ์อื่นที่สำคัญ ได้แก่ วิธีมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ วิธีต้นทุนมาตรฐาน วิธีราคาขายปลีก และวิธีอัตรากำไรขั้นต้น โดยวิธีมูลค่าสุทธิที่จะได้รบจะใช้สำหรับเปรียบเทียบกับราคาทุนและใช้มูลค่าที่ต่ำกว่าเป็นมูลค่าของสินค้าคงเหลือ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ส่วนวิธีต้นทุนมาตรฐาน วิธีราคาขายปลีกและวิธีอัตรากำไรขั้นต้น เป็นเทคนิคที่ใช้ในการประมาณมูลค่าของสินค้าคงเหลือปลายงวด
-          กิจการต้องรับรู้สินค้าคงเหลือเป็นค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด หากกิจการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือผิดพลาดจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกิจการทั้งในงวดปัจจุบันและในงวดบัญชีถัดไป และ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน กิจการจะต้องแสดงสินค้าคงเหลือในงบแสดงฐานะการเงินตามราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
-          สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินทรัพย์ซึ่งกิจการถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจโดยปกติของกิจการ รวมถึงสินทรัพย์ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขายสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของวัตถุดิบ ตลอดจนวัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าหรือให้บริการ สินค้าคงเหลืออาจจำแนกได้เป็น 4 ประเภท สินค้าสำเร็จรูป งานระหว่างทำ วัตถุดิบ และ วัสดุโรงงาน
-          การจะนับรวมรายการใดเป็นสินค้าคงเหลือของกิจการจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขการซื้อขายของสินค้าระหว่างทาง สินค้าฝากขาย สินค้าที่ขายตามสัญญาผ่อนชำระและสินค้าที่ขายเผื่อชอบ ส่วนการวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือมีเกณฑ์ใหญ่ๆ 2 เกณฑ์ คือ เกณฑ์ราคาทุน และเกณฑ์อื่น
-          มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 (ปรับปรุง 2552) เรื่องสินค้าคงเหลือ กำหนดว่าต้นทุนของสินค้าคงเหลือประกอบด้วยต้นทุนทั้งหมดในการซื้อ ต้นทุนแปลงสภาพ และต้นทุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าคงเหลือนั้นอยู่ในสถานที่และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
-          วิธีการบันทึกบัญชีสินค้าเหลือมี 2 วิธี คือ 1) วิธีการบันทึกบัญชีสินค้าเมื่อสิ้นงวด และ 2) วิธีการบันทึกบัญชีสินค้าแบบต่อเนื่อง การบันทึกบัญชีสินค้าเมื่อสิ้นงวดจะบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือเมื่อสิ้นงวดบัญชีโดยได้ยอดสินค้าคงเหลือมาจากการตรวจนับ ส่วนการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือเมื่อสิ้นงวดบัญชีโดยได้ยอดสินค้าคงเหลือมาจากการตรวจนับ ส่วนการบันทึกบัญชีสินค้าแบบต่อเนื่องจะบันทึกบัญชีทันทีเมื่อมีรายการเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ โดยเปิดบัญชีสินค้าคงเหลือไว้สำหรับบันทึกบัญชีเมื่อซื้อ เมื่อส่งคืนสินค้าและได้รับส่วนลด และเมื่อขายสินค้าออกไป
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามวิธีราคาเจาะจงเป็นวิธีคิดมูลค่าของสินค้าแต่ละรายการตามราคาทุนของสินค้านั้นๆ จึงเหมาะกับสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยสูง และมีรายการสินค้าไม่มากชนิด สินค้าแต่ละหน่วยไม่สามารถสับเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้ สำหรับกรณีที่สินค้าแต่ละหน่วยสามารถสับเปลี่ยนกันได้ กิจการควรใช้วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก วิธีเข้าก่อนออกก่อน หรือวิธีเข้าหลังออกก่อน
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ต้นทุนของสินค้าคงเหลือแต่ละรายการจะกำหนดจากการถัวเฉลี่ยต้นทุนของสินค้าที่เหมือนกัน ณ วันต้นงวดกับต้นทุนของสินค้าที่เหมือนกันที่ซื้อมาหรือที่ผลิตขึ้นในระหว่างงวด ซึ่งวิธีการคำนวณอาจทำได้ 2 วิธี คือ 1) วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเป็นระยะๆ ซึ่งมักจะคำนวณหาต้นทุนต่อหน่วยถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักทุกวันสิ้นงวดบัญชี และ 2) วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแบบเคลื่อนที่ ซึ่งจะคำนวณหาต้นทุนต่อหน่วยถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักทุกครั้งที่ได้รับสินค้าเข้ามา
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามวิธีเข้าก่อนออกก่อนมีข้อสมมติฐานว่าสินค้าที่ซื้อมาก่อนหรือผลิตขึ้นก่อนจะถูกขายออกไปก่อน ดังนั้นสินค้าคงเหลือปลายงวดจึงเป็นสินค้าที่ซื้อมาหรือผลิตขึ้นในครั้งหลังๆ วิธีนี้การไหลเวียนของสินค้าจะสอดคล้องกับการคิดต้นทุนของสินค้าคงเหลือ
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามวิธีเข้าหลังออกก่อนมีข้อสมมติฐานว่าสินค้าที่ซื้อมารุ่นหลังๆ หรือผลิตทีหลังจะถูกขายออกไปก่อน ดังนั้น สินค้าคงเหลือปลายงวดจึงเป็นสินค้าที่ซื้อมารุ่นแรกๆ หรือผลิตขึ้นในครั้งแรกๆ วิธีนี้การไหลเวียนของสินค้าจะตรงกันข้ามกับการคิดต้นทุนของสินค้าคงเหลือ และมาตรฐานการบัญชีไทยไม่อนุญาตให้ใช้วิธีนี้
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือด้วยวิธีมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ หมายถึง จำนวนสุทธิที่กิจการาดว่าจะได้รับจากการขายสินค้าตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติ ซึ่งคำนวณจากราคาโดยประมาณที่คาดว่าจะขายได้ตามปกติ หักด้วยประมาณการต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นให้เสร็จ และต้นทุนอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายไปเพื่อให้ขายสินค้านั้นได้
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามวิธีราคาขายปลีกเป็นวิธีการประมาณต้นทุนของสินค้าคงเหลือโดยใช้อัตราต้นทุนต่อราคาขายปลีกเป็นตัวปรับราคาขายปลีกให้เป็นราคาทุน โดยทั่วไปมักใช้กับกิจการค้าปลีกซึ่งขายสินค้าจำนวนหลากหลายชนิดในแต่ละวัน เพื่อวัดมูลค่าต้นทุนสินค้าคงเหลือประเภทร้อยละถัวเฉลี่ยของแผนกขายปลีกแต่ละแผนกในการประมาณการต้นทุน
-          การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือตามวิธีอัตรากำไรขั้นต้น มีข้อสมมติฐานว่าอัตรากำไรขึ้นต้นในแต่ละปีค่อนข้างคงที่ จึงใช้อัตรากำไรขึ้นต้นในอดีตเป็นเกณฑ์ในการประมาณมูลค่าสินค้าคงเหลือ โดยอัตรากำไรขั้นต้นที่นำมาใช้อาจเป็นอัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายสุทธิหรืออัตรากำไรขั้นต้นต่อต้นทุนขายก็ได้
-          การรับรู้รายการสินค้าคงเหลือเป็นค่าใช้จ่าย อาจแบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ 1) เมื่อมีการขายสินค้า 2) เมื่อมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าที่ต่ำกว่าราคาทุน และ 3) เมื่อมีผลขาดทุนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือ โดยกรณีที่ 1) จะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่มีการรับรู้รายได้ที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ 2 ให้รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายโดยแสดงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขายในงวดที่ปรับมูลค่าของสินค้าคงเหลือให้ลดลง ส่วนกรณีที่ 3 ให้แสดงเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหารในงดที่มีผลขาดทุนเกิดขึ้น
-          หากกิจการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือปลายงวดสูงกว่าความเป็นจริง จะมีผลกระทบทำให้ต้นทุนขายต่ำไป กำไรสุทธิสูงไป และงบแสดงฐานะการเงินจะแสดงสินทรัพย์รวมและกำไรสะสมสูงไปด้วย แต่ในงวดบัญชีถัดไป สินค้าคงเหลือปลายงวดที่สูงไปจะยกมาเป็นสินค้าคงเหลือต้นงวด จึงทำให้ต้นทุนขายสูงไป และกำไรสุทธิงวดถัดไปต่ำไป แต่ไม่กระทบต่องบแสดงฐานะการเงินงวดถัดไป ส่วนถ้ากิจการบันทึกสินค้าคงเหลือปลายงวดต่ำกว่าความเป็นจริงผลกระทบจะเป็นตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา

-          การแสดงมูลค่าสินค้าคงเหลือตามมาตรฐานการบัญชี กำหนดให้ใช้ราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีเปรียบเทียบราคาทุนกับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าแต่ละรายการ หรืออาจจะเปรียบเทียบจากกลุ่มสินค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือมีความเกี่ยวพันกันก็ได้ พร้อมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น