วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทที่ 1 ภูมิหลัง

บทที่ 1
บทนำ

ภูมิหลัง
               ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล เป็นภาษากลางในการสื่อสารในระดับชาติ (สุดาพร ลักษณียนาวิน, 2540, หน้า 54) ดังจะเห็นได้จากการให้มีการวิเคราะห์วิจัยด้านการใช้ภาษาอังกฤษ (ศูนย์พัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ, 2548, หน้า 3) พบว่า ภาษาอังกฤษมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหลักใหญ่ของประเทศ มากถึง 6 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ ด้านการท่องเที่ยว
ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้านอุตสาหกรรมสุขภาพ ด้านการอาหาร ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์
และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการยังพยายามให้มีการพัฒนาการเรียน
การสอนภาษาอังกฤษตลอดมา รวมถึงได้กำหนดให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเป็นต้นไปต้องศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะทางภาษาอังกฤษ ในระดับที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและเป็นที่ยอมรับกันว่าภาษาเป็น ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการแปลกแยกทางดิจิตอล ยิ่งในอนาคตเรากำลังก้าวสู่โลกแห่งวัฒนธรรมเดียวเป็นวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตดิจิตอลและสังคม ไซเบอร์สเปซยิ่งทำให้ภาษาอังกฤษมีบทบาทยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของภาษาบนข้อมูลดิจิตอลมีภาษาอังกฤษเพิ่มมาเป็นเกือบ ร้อยละ
90 แต่คนไทยยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้มีมาก (ยืน ภู่วรวรรณ, 2553, ย่อหน้า 7-9)
            การอ่านมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันเพราะการอ่านช่วยให้คนสามารถแสวงหาความรู้ ความบันเทิง ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่าง ๆ ได้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการอ่านที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งหลังของทศวรรษที่20 นี้ไม่มีทักษะใดที่จะสำคัญมากไปกว่าทักษะการอ่าน (สมุทร เซ็นเชาวนิช 2551, หน้า 2) และทักษะการอ่านเป็นทักษะจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน (สุมิตรา อังวัฒนกุล, 2540, หน้า 149) เนื่องจากโอกาสที่จะได้เห็นและอ่านภาษาอังกฤษมีมากขึ้นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ด้านเทคโนโลยีและวิชาการสมัยใหม่ รวมทั้งการติดต่อทำสัญญาค้าขายหรือแม้แต่อ่านฉลากสินค้าอุปโภคบริโภคที่รับมาจากต่างประเทศมีบทบาทเป็นอย่างมาในชีวิตของคนไทย ทักษะการอ่านจึงมีความสำคัญมากขึ้น ล้วนแต่ต้องอาศัยความเข้าใจในการอ่านแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยสนับสนุนว่าภาษาอังกฤษจำเป็นต่อการใช้ในการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา และทักษะที่ใช้บ่อยที่สุดคือ การอ่าน (สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2553, ย่อหน้า 2)
            จากแผนยุทธศาสตร์ยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของประชากรไทย
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พ.ศ. 2548-2558 (คณะทำงานเสนอแผนยุทธศาสตร์ปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ, ม.ป.ป., ย่อหน้า 9) และจากรายงานผล
การสอบวัดคุณภาพการศึกษาระดับชาติ พบว่าผู้เรียนได้เรียนภาษาอังกฤษทุกคน แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านต่ำในทุกระดับ อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในทุกระดับและจำนวน
ไม่น้อยมีเจตคติไม่ดีต่อภาษาอังกฤษ จะเห็นได้ว่าการที่นักเรียนมีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับต่ำ อาจเป็นเพราะว่าไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ในการเรียนภาษาอังกฤษ และไม่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อภาษาอังกฤษ (ทิพย์วัลย์ มาแสง, 2532, หน้า 1)
            ในกระบวนการสอนภาษาอังกฤษนั้นควรมีการลำดับความยากง่ายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กชอบหรือไม่ชอบภาษาอังกฤษ (อธิปัตย์ คลี่สุนทร, 2546) มีผลการสำรวจพบว่า นักเรียนร้อยละ 70 มีแรงจูงใจในการเรียนอ่านภาษาอังกฤษและคิดว่าภาษาอังกฤษน่าเบื่อ
เรียนแล้วไม่เข้าใจ จึงไม่ชอบเรียน (ขจิต ฝอยทอง,
2553, หน้า 2) ซึ่งเป็นผลจากการอ่านไม่เข้าใจ และผลจากการอ่านภาษาอังกฤษไม่เข้าใจก็ทำให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไม่สามารถทำข้อสอบได้ดีเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จาก ผลการสอบ National Test (NT) ในปี 2549 พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนภาษาอังกฤษเฉลี่ย ร้อยละ 30.85 ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 46.60 และจากคะแนนสูงสุด-ต่ำสุด คะแนนโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 15.74 คะแนน จาก 40 คะแนน ซึ่งนายสมเกียรติ ชอบผล  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้กล่าวว่า คะแนนเฉลี่ยร้อยละของวิชาภาษาอังกฤษนั้นต่ำกว่าทุกวิชา (ลาเต้, 2550, ย่อหน้า 1-3) นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจของ International Institute for Management Development (IMD) พบว่า ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศคือ การศึกษา ได้ศึกษาตัวบ่งชี้คือนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีอายุ 15 ปี พบว่า ความสามารถทางการอ่านภาษาต่างประเทศล่วงลงมามาก จาก 55 ประเทศ ในปี 2548 ไทยอยู่อันดับที่ 39 ปี 2549 ไทยอยู่อันดับที่ 42 และปี 2550 ไทยอยู่อันดับที่ 48 ยิ่งกว่านั้นยังมีผล
การประเมินจาก Programme for International Student Assessment (PISA) ได้ทำการสำรวจประชากรอายุ 15 ปี หรือนักเรียนที่เรียนอยู่ มัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า มีเพียง ร้อยละ 26 ที่มีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับดี นอกเหนือจากนั้น ร้อยละ 74 อยู่ในระดับต่ำ จากจำนวนผู้เข้ารับการทดสอบ จำนวน 196,000 คนมีคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษ อยู่ที่ 13.81 จาก 40 คะแนน (วิทยากร เชียงกูล, 2552, ย่อหน้า 1-15)
          ในหลักสูตรแกนกลางนั้นเน้น ความรู้ทักษะ เจตคติ และวัฒนธรรมการใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสาร แสวงหาความรู้ และการประกอบอาชีพ (เฉลิม ฟักอ่อน, 2552, หน้า 5) ดังจะเห็นได้จากสาระที่ 1 ภาษาเพื่อการสื่อสาร มาตรฐาน ต 1.1 เข้าใจและตีความเรื่อง  ที่ฟังและอ่านจากสื่อประเภทต่างๆ และแสดงความคิดเห็น  สาระที่ 3 ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น มาตรฐาน ต 3.1 ใช้ภาษาต่างประเทศในการ เชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาแสวงหาความรู้ และเปิดโลกทัศน์ของตนและสาระที่ 4 มาตรฐาน ต 4.1
ใช้ภาษาต่างประเทศในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในสถานศึกษา ชุมชน และสังคม และมาตรฐาน ต 4.2 ใช้ภาษาต่างประเทศเป็น เครื่องมือพื้นฐานในการศึกษาต่อการประกอบอาชีพ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมโลก (คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2551, หน้า  228-223) จะเห็นได้ว่า ได้มีการกำหนดการเรียนรู้เกี่ยวกับความสามารถในการอ่านไว้ถึง 3 สาระ จาก 4 สาระด้วยกัน
            การสอนภาษาอังกฤษตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีในประเทศไทย ซึ่งจะเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมือกันเรียนรู้ ร่วมกันแสดงออก เนื่องจากมนุษย์มีวัฒนธรรมของ
การอยู่ร่วมกัน มีการยอมรับซึ่งกันและกัน ทฤษฎีนี้อาศัยความสัมพันธ์เชิงปฐมภูมิ คือ การอยู่
ใกล้ชิดกัน บุคคลที่เกี่ยวข้องกันมีจำนวนน้อย และมีระยะเวลาของความสัมพันธ์ยาวนาน
(สุพัตรา สุภาพ, 2549, หน้า 5) วัฒนธรรมมีความสำคัญต่อภาษา ซึ่งภาษาถือเป็นเครื่องมือใน
การจัดกระทำกระบวนการคิด
            ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม (Sociocultural Theory) นั้นมีแนวคิดหลักอยู่ 3 ประการ คือ          1. หลักทั่วไปของพัฒนาการ (general laws of development)
            2. พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (zone of proximal development: ZPD) และ
            3. บทบาทของเครื่องมือ (tools) ต่อการเรียนรู้ (พินิจ ขำวงษ์, ม.ป.ป., ย่อหน้า 3) ทฤษฎีของไวก็อตสกี มีลักษณะเป็นทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม (Sociocultural Theory) โดยมีแนวคิดพื้นฐานที่เรียกว่า กฎพื้นฐานของพัฒนาการทางวัฒนธรรม (a general law of cultural development) ที่ระบุว่า พัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์แต่ละคน เป็นความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ที่มีจุดเริ่มต้นจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม (Berk, & Winsler, 1995, p.12) แนวคิด
การพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ที่เน้นความสำคัญของอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรม ที่มีต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ และเน้นความสำคัญของภาษาในฐานะเครื่องมือทางจิตใจ ที่ใช้ในการเรียนรู้ ควบคุมการคิดและกำกับตนเอง (ชินะพัฒน์  ชื่นแดชุ่ม,
2542, หน้า 5)
และมีงานวิจัยที่สนับสนุน เช่น ประทุม ศรีรักษา (2549, หน้า 80) ได้นำทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมมาศึกษาทดลองใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย และพบว่า สังคมไทยมีการช่วยเหลือกันอยู่มาก เช่น คนที่อายุมากกว่าจะคอยช่วยเหลือคนที่อายุน้อยกว่า เช่นการชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมเหมาะกับเด็กไทยเพราะคนที่มีความรู้มากกว่า เช่น ครูหรือเพื่อน เป็นผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำคนที่ไม่รู้ในส่วนที่ผู้อื่นรู้ อีกทั้ง อรศรี งามวิทยาพงศ์ (2549, หน้า 16) ได้กล่าวว่า การศึกษาเรียนรู้เป็นเรื่องของวัฒนธรรม วิถีชีวิต การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการมนุษย์เข้ากับสภาวะทางสังคมในปัจจุบันและอนาคต
               ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (Schema Theory) เชื่อว่าโครงสร้างภายในความรู้ที่มนุษย์มีอยู่
มีลักษณะเป็นโหนด (node) หรือกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่ การที่มนุษย์เรียนรู้อะไรใหม่ๆ นั้น มนุษย์จะนำความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้รับนั้นไปเชื่อมโยงกับกลุ่มความรู้ที่มีอยู่เดิม (pre-existing knowledge) หน้าที่โครงสร้างของความรู้นี้คือ การนำไปสู่การรับรู้ข้อมูล (perception) การรับรู้ข้อมูลนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดความรู้เดิม (schema) เพราะการรับรู้ข้อมูลนั้นเป็นการสร้างความหมายโดยการถ่ายโอนความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม ในกรอบความรู้เดิมที่มีอยู่และจาก
การกระตุ้นโดยเหตุการณ์หนึ่ง ๆ เกิดการเชื่อมโยงความรู้นั้น ๆ เข้าด้วยกัน การรับรู้ที่ทำให้เกิด
การเรียนรู้เนื่องจากไม่มีการเรียนรู้ใดเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากการรับรู้โครงสร้างความรู้ยังช่วยในการระลึก (
recall) ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยเรียนรู้มา (Anderson, 1984, para.1)
            การสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้นั้น อาร์มบรัสเตอร์ (Armbruster, 1996, pp. 253-276) แนะนำให้สอนโดยให้เปรียบเทียบการใช้สิ่งที่เหมือนกันและการออกคำสั่ง เพื่อดึงดูดความสนใจต่อความรู้เดิมและเพื่อช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างความรู้เดิมที่มีอยู่ และข้อมูลใหม่
โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหา โดยไพรซ์และดริสคอล (Price, & Driscoll, 1997, pp. 472-494) เห็นว่าการเรียนการสอนควรใช้สิ่งที่สมจริงหรือใกล้เคียงกันในการสอนแก้ปัญหา ส่วนวิดเมเยอร์ (Widmayer, 2010, para.9) เห็นว่าการเรียนการสอนควรเอื้ออำนวยต่อการให้ผู้เรียนเกิดความคิดย้อนกลับในรูปแบบของการทำงานอย่างเต็มที่ และควรอธิบายตัวอย่างหรือใบงานที่ชัดเจนในการสร้างความรู้ของตัวผู้เรียน อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ คือ ความรู้ที่มีอยู่ก่อนในการประมวลผล เพื่อให้ผู้เรียนประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้เก่าที่พวกเขามีอยู่ต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาใหม่ที่ต้องการ
โดยการกระตุ้นความจำที่มีต่อความรู้ที่มีอยู่ก่อน (stimulating recall of prior knowledge)
ซึ่งสัมพันธ์กับขั้นที่ 3 ในเหตุการณ์ทั้ง 9 ของกาเย่ (Gagne) การใช้ความรู้เดิมของผู้เรียนเป็นกระบวนการช่วยให้ผู้เรียนมีการจัดกระทำกระบวนการจากเรื่องที่อ่านได้ดีขึ้น ดังนั้นการเรียน
การสอนนั้นสนับสนุนกลยุทธ์อภิปัญญาที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานความรู้เดิมของคนๆ นั้น ก่อนที่จะอ่าน เช่น การอ่านหัวเรื่องชื่อเรื่อง ภาพประกอบ และทำการคาดการณ์ตามชื่อเรื่องและภาพประกอบ วิดเมเยอร์ (Widmayer, 2010, para. 2) ได้กล่าวว่า ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (Schema Theory)
ในการอ่านนั้นเป็นความหมายแฝงอยู่ในบทอ่าน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าแต่ละคนที่อ่านบทความหรือข้อความ จะมีความลึกซึ้งในการอ่านแตกต่างกันไป ทฤษฎีนี้มีความสำคัญต่อการแปลความหมายและการถอดรหัสข้อมูล ซึ่งสะท้อนโครงสร้างของเนื้อหา (Driscoll, 1994, unpaged; Halliday, Hassan, 1989, unpaged, & Widmayer, 2010, para.2) ผู้อ่านใช้ความรู้เดิมเพื่อบรรยาย เปรียบเทียบ และเหตุผลในการอ่านและแปลความหมายข้อมูลในบทอ่าน ซึ่งโครงสร้างความรู้นี้สะท้อนให้เห็นถึงเบื้องหลังทางวัฒนธรรมของผู้อ่านด้วย แคปแลน (Kaplan,1986, unpaged) กล่าวว่าความรู้สึกคล้อยตามอย่างแท้จริงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผู้อ่านไม่ควรแปลภาษาที่สองได้แต่ควรเข้าใจโครงสร้างทางภาษาหรือความนัยที่ซ่อนอยู่ในภาษาที่สองจาก
การวิจัยของศิริพร ฉันทานนท์ (
2539, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจตามทฤษฎีโครงสร้างความรู้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายพบว่าการสอนอ่านตามทฤษฎีโครงสร้างความรู้มีผลความเข้าใจในระดับสูง และผู้วิจัยจะทำการวิจัยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในเรื่องความเข้าใจในการอ่านเช่นกันทฤษฎีโครงสร้างความรู้นั้นนักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองนั้นพยายามใช้เพื่อช่วยเรื่องความเข้าใจในการอ่านและทฤษฎีนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการสอนภาษาต่างประเทศนั้นมีเรื่องวัฒนธรรมมารบกวนความเข้าใจใน
การอ่าน
(Durkheim, et al., 2010, unpaged)
            จากความสำคัญของการสอนโดยใช้วิธีการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม (Sociocultural Theory) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้สำหรับการสอนภาษารวมทั้งสอดแทรกวัฒนธรรมเข้ามาด้วยนำมาสอนอ่านและมีงานวิจัยออกมายืนยันว่าเหมาะสมกับวิถีชีวิตแบบคนไทยกับ วิธีการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ (Schema Theory) ที่มีผลวิจัยมารองรับว่าเหมาะสมสำหรับการสอนอ่านเพื่อความเข้าใจนั้น วิธีใดจะเหมาะสมกว่ากัน ผู้วิจัยจึงนำไปใช้ในการพัฒนาการสอนเพื่อเพิ่มความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้นโดยเปรียบเทียบทั้งสองทฤษฎี
เพราะมีความสอดคล้องกันด้านภูมิหลังของผู้เรียน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษาต่อไปในอนาคต        

ความมุ่งหมายของการวิจัย
               1. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี ระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน
            2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ ระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน
            3. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี กับการสอนโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้  
            4. เพื่อเปรียบเทียบเจตคติที่มีต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี กับทฤษฎีโครงสร้างความรู้

ความสำคัญของการวิจัย
            1. นักเรียนมีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษและเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษสูงขึ้น
            2. เพื่อเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนและผู้สนใจนำกิจกรรมการสอนอ่านภาษาอังกฤษตาม ไปใช้พัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
            3. เพื่อเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนและผู้สนใจนำแนวคิดทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี (Sociocultural Theory) และ แนวคิดทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (Schema Theory)ไปใช้พัฒนาการสอนอ่านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น




ขอบเขตของการวิจัย
            1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
               1.1  ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ
เทพสตรี จังหวัดลพบุรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 255
4 จำนวน 5 ห้องเรียนที่คละความสามารถ รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมด 241 คน
               1.2  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2554 สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี สังกัดสำนักงานการอุดมศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/4 จำนวน 48 คน และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 จำนวน 47 คน ได้จากการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) ด้วยการจับสลากเป็น 2 กลุ่ม เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มทดลองลำดับที่ 1 และ 2
            2. ตัวแปรที่ศึกษาในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย
               2.1 ตัวแปร ได้แก่ วิธีการสอน แบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่
                    2.1.1 วิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม
                             2.1.2 วิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
               2.2 ตัวแปรตาม ได้แก่
                    2.2.1 ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ
                    2.2.2 เจตคติที่มีต่อการอ่านภาษาอังกฤษ
            3. เนื้อหาที่ใช้ทำการสอน คือ เนื้อหาการอ่านจากหนังสือ Super Goal ตั้งแต่บทที่ 1-12 นอกจากนี้ยังศึกษาและคัดเลือกเนื้อหาการอ่าน จากเนื้อหาจริงที่พบในชีวิตประจำวัน เช่น ข่าว
การสนทนาต่างๆ
            4. ระยะเวลาในการทดลอง ในแต่ละห้องสอน สัปดาห์ละ 2 คาบๆ ละ 50 นาที 4 สัปดาห์ รวม 8 คาบ ทดสอบก่อนเรียน ห้องละ 1 คาบ และทดสอบหลังเรียน ห้องละ 1 คาบ รวม 10 คาบ /ห้อง

นิยามศัพท์เฉพาะ
               การสอนตามเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี หมายถึง การสร้างกิจกรรม
การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษโดยสรุปมีขั้นตอนการสอน 8 ขั้นตอน  ดังนี้
            ขั้นที่ 1 การเชิญชวนให้เข้าร่วมและจัดระบบการทำงาน ทบทวนความเข้าใจในแนวทาง
การดำเนินงานและพิจารณาอย่างรอบคอบ
            ขั้นที่ 2 การให้ข้อมูลป้อนกลับที่มีความหมายกับผู้เรียนหรือตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนขณะนั้น
            ขั้นที่ 3 การสร้างความเข้าใจร่วมกันและวิเคราะห์งานหรือทำให้ผู้เรียนเข้าใจงานอย่างชัดเจนและทำให้งานดูง่ายขึ้น
            ขั้นที่ 4 การยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของการมีส่วนร่วมได้
ตามความสนใจของเขา
            ขั้นที่ 5 ส่งเสริมการกำกับตนเองของผู้เรียน ให้สามารถควบคุมการทำงานของตนเองได้อย่างเป็นระบบ
ขั้นที่ 6 การสื่อความเข้าใจผ่านการเขียนหรือพิมพ์งาน
            ขั้นที่ 7 สรุปงาน สรุปบทเรียนที่เรียนมา และสรุปคำสั่งทุกครั้งที่มีการมอบหมายภาระงานให้ทำ
          ขั้นที่ 8 ประเมินเชิงรุก (dynamic assessment) ประเมินโดยใช้การประเมินที่มี
ความยืดหยุ่นไปตามบทเรียน สภาพตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
               การสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ หมายถึง การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษมีขั้นตอน 6 ขั้นตอน คือ
            ขั้นที่ 1 ขั้นทบทวนพื้นฐานความรู้เดิม เป็นการสอนทบทวนประสบการณ์หรือเรื่องที่เคยเรียนรู้มาแล้ว
            ขั้นที่ 2 ขั้นสอนเนื้อหาใหม่และปฏิบัติกิจกรรม เป็นการให้ป้อนข้อมูลใหม่เข้าไปแล้วให้นักเรียนลองปฏิบัติกิจกรรมโดยร่วมกันทำกับเพื่อนและผู้สอน
            ขั้นที่ 3 ขั้นสรุปเนื้อหา ผู้สอนทำการสรุปเนื้อหาให้นักเรียนเข้าใจยิ่งขึ้น
            ขั้นที่ 4 ขั้นฝึกความสามารถจากใบงาน และจากแบบฝึกหัดเสริม เป็นการทำใบงาน แบบฝึกหัดด้วยตนเอง
            ขั้นที่ 5 ขั้นการนำความรู้ไปใช้ ทำการทดสอบหลังจากผ่านไปแล้วทั้ง 4 ขั้นตอน
            ขั้นที่ 6 ขั้นการประเมินผล นำผลการทดสอบและผลการฝึกความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ มาประเมินผลการเรียนรู้
               ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ หมายถึง ความก้าวหน้าทางการเรียน คือ คะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียน  ร้อยละ 15 จากการทดสอบความตกต่างระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยคะแนนหลังเรียนต้องสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
               เจตคติในการอ่านภาษาอังกฤษ หมายถึง ความรู้สึกชอบหรือความพอใจที่มีต่อวิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม และ วิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
               นักเรียน หมายถึง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ
เทพสตรี จังหวัดลพบุรี ปีการศึกษา 255
4

กรอบแนวคิดในการวิจัย
            การวิจัยครั้งนี้ได้แนวคิดมาจากวิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม
ของไวก็อตสกี
(Vygotsky) ซึ่งมีวิธีการสอนที่สังเคราะห์มาจากเอกสารและงานวิจัยของ
ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม (2542), เบอร์ก, และวินสเลอร์ (Berk, & Winsler, 1995), แฮมิลตัน, และแกททาลา (Hamilton, & Ghatala, 1994), ทินซ์แมน, และคนอื่น ๆ (Tinzman, et al., 1990), วูด, บรูนเนอร์, และรอสส์ (Wood, Bruner, & Ross, 1976), เวบสเตอร์, เบเวอริดจ์, และรีส (Webster, Beveridge, & Reed, 1996), สถาบันทางการศึกษารีช (Reich College of Education, 2006) และ เวลส์ (Wells, 1999) โดยสรุปมีขั้นตอนการสอน 8 ขั้น ดังนี้
            ขั้นที่ 1 การเชิญชวนให้เข้าร่วมและจัดระบบการทำงาน ทบทวนความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานและพิจารณาอย่างรอบคอบ
            ขั้นที่ 2 การให้ข้อมูลป้อนกลับที่มีความหมายกับผู้เรียนหรือตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนขณะนั้น
            ขั้นที่ 3 การสร้างความเข้าใจร่วมกันและวิเคราะห์งานหรือทำให้ผู้เรียนเข้าใจงานอย่างชัดเจนและทำให้งานดูง่ายขึ้น
            ขั้นที่ 4 การยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของการมีส่วนร่วมได้ตามความสนใจของเขา
            ขั้นที่ 5 ส่งเสริมการกำกับตนเองของผู้เรียน ให้สามารถควบคุมการทำงานของตนเองได้อย่างเป็นระบบ
            ขั้นที่ 6 การสื่อความเข้าใจผ่านการเขียนหรือพิมพ์งาน
            ขั้นที่ 7 สรุปงาน สรุปบทเรียนที่เรียนมา และสรุปคำสั่งทุกครั้งที่มีการมอบหมายภาระงานให้ทำ
          ขั้นที่ 8 ประเมินเชิงรุก (dynamic assessment) ประเมินโดยใช้การประเมินที่มี
ความยืดหยุ่นไปตามบทเรียน สภาพตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
            วิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ ซึ่งมีวิธีการสอนที่สังเคราะห์มาจากเอกสารและงานวิจัยของ ศิริพร ฉันทานนท์ (2539), พุทธชาติ ทองกร (2549), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2546), แอนเดอร์สัน (Anderson, 1984), อาร์มบรัสเตอร์ (Armbruster, 1996), ไพรซ์, และดริสคอล (Price, & Driscoll, 1997) และวิดเมเยอร์ (Widmayer, 2010) ประกอบด้วย 6 ขั้น ดังนี้
            ขั้นที่ 1 ขั้นทบทวนพื้นฐานความรู้เดิม เป็นการสอนทบทวนประสบการณ์หรือเรื่องที่เคยเรียนรู้มาแล้ว
            ขั้นที่ 2 ขั้นสอนเนื้อหาใหม่และปฏิบัติกิจกรรม เป็นการให้ป้อนข้อมูลใหม่เข้าไปแล้วให้นักเรียนลองปฏิบัติกิจกรรมโดยร่วมกันทำกับเพื่อนและผู้สอน
            ขั้นที่ 3  ขั้นสรุปบทเรียน ผู้สอนทำการสรุปเนื้อหาให้นักเรียนเข้าใจยิ่งขึ้น
            ขั้นที่ 4 ขั้นฝึกทักษะจากใบงาน และจากแบบฝึกหัดเสริม เป็นการทำใบงาน แบบฝึกหัดด้วยตนเอง
            ขั้นที่ ขั้นการนำความรู้ไปใช้ ทำการทดสอบหลังจาผ่านไปแล้วทั้ง 4 ขั้นตอน
            ขั้นที่ 6 ขั้นการประเมินผลนำผลการทดสอบและผลการฝึกความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ มาประเมินผลการเรียนรู้
                    
                                                         








ภาพ 1 กรอบแนวคิดในการวิจัย

สมมติฐานของการวิจัย
               1. ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียน
สูงกว่าก่อนเรียนโดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม
            2. ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียน
สูงกว่าก่อนเรียนโดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
            3. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตาม ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้  
            4. เจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น