วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (8)

6.  ลักษณะการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี
                จากแนวคิดการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ดังกล่าว อาจสรุปทัศนะของ
ไวก็อตสกีที่มีต่อการศึกษาได้ว่า การศึกษามีหน้าที่เพิ่มพูนพัฒนาการของมนุษย์ เด็กจะสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของตนขึ้นได้จากประสบการณ์ ที่ประกอบด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
เช่น การร่วมงาน
(collaboration) และการปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับครู ผู้ปกครอง และเด็กคนอื่นๆ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 33; Berk, & Winsler, 1995, p.33)
                ด้านการร่วมงาน (collaboration) ทินซ์แมน และคนอื่นๆ (Tinzman, et al., 1990, pp.1-2) ได้กล่าวถึงการร่วมงานหรือห้องเรียนแบบร่วมงาน (collaborative classroom) ว่าหมายถึง
การจัดการเรียนการสอนที่เลียนแบบการทำงานในสังคม ที่จะมีกลุ่มขนาดต่างๆ ทั้งกลุ่มใหญ่และกลุ่มเล็ก โดยมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ
(North Central Regional Education Laboratory, 2006, para.2) คือ
                1. การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน (shared knowledge among teacher and students)
                2. การสับเปลี่ยนกันเป็นผู้เชี่ยวชาญระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน (shared authority among teacher and students)
                3. ครูเป็นผู้ประสานสัมพันธ์ (teacher as mediators)
                4. การจัดให้นักเรียนในกลุ่มมีความรู้ความคิดเห็นแตกต่างกัน (heterogeneous grouping of students)
                ด้านการปฏิสัมพันธ์ (interaction) แนวทางที่เด่นที่สุด คือ สแกฟโฟลดิง (scaffolding)
ซึ่งเป็นบทบาทเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ในลักษณะการช่วยเหลือตามสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหานั้นด้วยตนเองได้ โดยมี 6 วิธี คือ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 34
; Wood, Bruner, & Ross, 1976, p.98)
                1. การคัดเลือก (recruitment) คือ การทำให้ผู้เรียน สนใจและตั้งเป้าหมายในการเรียน ด้วยการเลือกเรื่องที่เหมาะสม และน่าสนใจมานำเสนอ
                2. การลดทางเลือก (reduction in degrees of freedom) คือ การลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นและลดขนาดของงานลง
                3. การรักษาเส้นทาง (direction maintenance) คือ การรักษาความสนใจที่มีต่อเป้าหมายด้วยการจัดงานที่จะทำให้ดูสนุกสนานน่าสนใจ การเอ่ยถึงคุณค่าของงานที่กำลังทำ และความน่าสนใจของงานที่จะทำต่อไป
                4. การชี้จุดสำคัญ (marking critical features) คือ การชี้ให้เห็นคุณสมบัติสำคัญที่แสดงว่างานนั้นสำเร็จหรือไปถูกทางแล้ว รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อบกพร่อง หรือคลาดเคลื่อน ในงานที่กำลังทำอยู่ด้วย
                5. การป้องกันปัญหา (frustration control) คือ การจัดเตรียมงานให้มีความปลอดภัย และสะดวกเพียงพอ สำหรับการทำกิจกรรมของผู้เรียน โดยไม่ให้ผู้เรียนต้องพึ่งพาผู้สอนมากเกินไปในระหว่างการทำกิจกรรม
                6. การสาธิต (demonstration) คือ การแสดงตัวอย่าง เพื่อเป็นแนวทางใน
การแก้ปัญหาที่ผู้เรียนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น
                วูด (Wood, 1988, p.79) ได้จำแนก ระดับของสแกฟโฟลดิง จากน้อยไปมากไว้
5 ระดับ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 34-35) คือ
                1. การได้ให้คำแนะนำอย่างกว้างๆ
                2. การบอกแนวทางในจุดที่เป็นปัญหา
                3. การให้แนวทางเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้
                4. การจัดวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้
                5. การสาธิตให้ดู
             บุษบง ตันติวงศ์ (Tantiwong, 1994, pp.3-11) ได้ศึกษาการใช้คำพูดของครู
ในลักษณะของ สแกฟโฟลดิง พบว่า คำพูดที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้มี 4 ลักษณะ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 35) คือ
                1. การให้ข้อมูลป้อนกลับที่มีความหมายกับผู้เรียน หรือตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนขณะนั้น
                2. การวิเคราะห์งาน เพื่อทำให้ผู้เรียนเข้าใจงานอย่างชัดเจนและทำให้งานดูง่ายขึ้น
                3. การทบทวนคำพูดหรือทบทวนความมุ่งหมายของสิ่งที่กำลังกระทำอยู่
             4. การยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของการมีส่วนร่วมได้
ตามความสนใจของเขา
                สแกฟโฟลดิง จะได้ผลดีควรประกอบด้วยคุณลักษณะ 4 ประการ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 35; Berk, & Winsler, 1995, pp.26-29) คือ
                1. การแก้ปัญหาร่วมกัน (joint problem solving) คือ การสร้างความกระตือรือร้นต่อสิ่งที่น่าสนใจและมีความหมายทางวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาหรือไปสู่จุดหมายร่วมระหว่างเด็กกับเด็กหรือเด็กกับผู้ใหญ่
                2. การสร้างความเข้าใจร่วมกัน (intersubjectivity) คือ กระบวนการที่เริ่มต้นจากผู้ที่มีความเข้าใจต่างกัน มาแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันด้วยวิธีการสื่อสารแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การมีความเข้าใจร่วมกันและการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงที่สุด การสร้างความเข้าใจร่วมกันจะสร้างความเข้าใจพื้นฐานสำหรับผู้ร่วมงานแต่ละคนในการติดต่อสื่อสารและสร้างทัศนะที่เหมาะสมต่อกัน ผู้ใหญ่ที่พยายามสร้างความเข้าใจร่วมกันในขณะถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจของตนให้แก่เด็ก
                3. การเอาใจใส่และผู้เรียน (keep the children in ZPD) คือ การช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนด้วยการทำงานไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยทำได้ 2 ทาง (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 35-36) คือ
                    3.1  การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก เช่น ถ้างานนั้นยากเกินไปก็ช่วยทำให้ง่ายลงหรือถ้าเด็กเริ่มเบื่อก็นำเสนองานที่ท้ายทายให้
                    3.2  การสอดแทรกในจังหวะที่เหมาะสม คือ การให้ความช่วยเหลือและการสอน
เมื่อเด็กต้องการและคอยสังเกตอยู่ห่างๆ เมื่อเด็กทำงานได้แล้ว
                4. การส่งเสริมการกำกับตนเอง (promote self-regulation) คือ การสนับสนุนให้เด็กกำกับกิจกรรมที่ทำร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยกระตุ้นให้เด็กพยายามแก้ปัญหาจนสำเร็จได้ด้วยตนเอง มากกว่าการให้คำตอบสำเร็จรูปและการออกคำสั่งให้เด็กทำตามเพื่อให้เด็กสามารถทำงานโดยอิสระได้ในที่สุด
                นักการศึกษาให้แนวคิดเกี่ยวกับสแกฟโฟลดิงไว้หลายลักษณะ ดังนี้
                1. ด้านกิจกรรม เวบเตอร์ เบเวอริดจ์และรีด (Webster, Beveridge, & Reed, 1996, pp.71-78) ได้กล่าวถึงกระบวนการของสแกฟโฟลดิง ว่าประกอบด้วยกิจกรรม 5 ขั้นตอน
(ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542
, 36) คือ
                    1. การเชิญชวนให้เข้าร่วมและจัดระบบการทำงาน
                    2. การทบทวนความเข้าใจในแนวทางการทำงาน
                    3. การพิจารณางานอย่างรอบคอบ
                    4. การสื่อความเข้าใจผ่านการเขียนหรือพิมพ์งาน
                    5. การสรุปงาน
                   การฝึกหัดกิจกรรมมี 6 หลักใหญ่ๆ ด้วยกัน (Reich College of Education, 2006, para.2) ดังนี้
                   1. ให้คำสั่ง
                   2. สร้างความสัมพันธ์
                   3. พัฒนาความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับผู้ปกครอง
                   4. การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับผู้ปกครอง
                   5. การเพิ่มเติมการเจริญเติบโตและการพัฒนาแบบมืออาชีพ
                   6. การเปลี่ยนแปลงโรงเรียน
                2. ด้านการร่วมงาน จากลักษณะของการร่วมงานและสแกโฟลดิง ดังกล่าวการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของไวก๊อตสกี้ จึงมีลักษณะ 6 ประการ
(ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 36
; Wells, 1999, unpaged) คือ
                   1. ห้องเรียนเป็นชุมชนแห่งการทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน
                   2. กิจกรรมการเรียนรู้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนในทุกๆ ด้าน
                   3. ผู้เรียนตระหนักในความเป็นมาและความสำคัญของกิจกรรมการเรียนรู้
                   4. หลักสูตรเป็นแนวทางพื้นฐานไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด
                   5. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ริเริ่มสร้างสรรค์
                   6. ผลการเรียนรู้ควรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต
                นอกจากนี้ยังมีผู้ให้นำแนวคิดการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ ไปพัฒนาเป็นแนวทางการศึกษาในด้านต่างๆ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ด้าน (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 38) คือ
                1. ด้านการจัดหลักสูตร เช่น การสอนภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ (whole-language) และ หลักสูตรตามเหตุการณ์ (emergent curriculum)
                2. ด้านการสอน เช่น การสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (peer tutoring), การสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท (reciprocal teaching), การสอนทั้งระดับชั้น (whole-class instruction) และโปรแกรมทำงานและบทสนทนาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ (doing and talking about mathematics)
                3. ด้านการประเมินผล เช่น การประเมินเชิงรุก (dynamic assessment)
                4. ด้านการจัดสภาพโรงเรียน เช่น โปรแกรม คาเมฮาเมฮา (the Kamehameha elementary education program) และ เรกจิโอ เอมิเลีย (reggio emilia) (Berk & Winsler, 1995)
             การเรียนการสอนตามทฤษฎีของไวก๊อตสกี้มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ
(ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 37) คือ
                1. การเรียนแบบร่วมงาน (collaborative learning) ซึ่งหมายถึง การจัดกิจกรรมที่มีลักษณะการเรียนรู้จากการทำงาน และการเรียนการสอนเป็นกลุ่ม โดยอาจให้การเรียนแบบร่วมมือ (cooperative learning) ที่จะทำให้ผู้เรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนสามารถพัฒนากลวิธีใน
การแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ในที่สุด
                2. สแกฟโฟลดิง (scaffolding) ซึ่งหมายถึง การช่วยเหลือ แนะนำที่ตรงกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้การพูดกับตนเอง (private speech) หรือ การคิดเป็นถ้อยคำเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นอยู่ เป็นแนวทางในการค้นพบแนวการทำงานและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ในที่สุด
                จากที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถสรุปขั้นตอนการสอนได้ 8 ขั้นตอน ดังนี้
                    1. การเชิญชวนให้เข้าร่วมและจัดระบบการทำงาน ทบทวนความเข้าใจในแนวทาง
การดำเนินงานและพิจารณาอย่างรอบคอบ
                    2. การให้ข้อมูลป้อนกลับที่มีความหมายกับผู้เรียนหรือตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนขณะนั้น
                    3. การสร้างความเข้าใจร่วมกันและวิเคราะห์งานหรือทำให้ผู้เรียนเข้าใจงานอย่างชัดเจนและทำให้งานดูง่ายขึ้น
                    4. การยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของการมีส่วนร่วมได้ตาม
ความสนใจของเขา
                    5. ส่งเสริมการกำกับตนเองของผู้เรียน ให้สามารถควบคุมการทำงานของตนเองได้อย่างเป็นระบบ
                6. การสื่อความเข้าใจผ่านการเขียนหรือพิมพ์งาน
                    7. สรุปงาน สรุปบทเรียนที่เรียนมา และสรุปคำสั่งทุกครั้งที่มีการมอบหมายภาระงานให้ทำ
                          8. ประเมินเชิงรุก (dynamic assessment) ประเมินโดยใช้การประเมินที่มีความยืดหยุ่นไปตามบทเรียน สภาพตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
                จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีของไวก๊อตสกี้อธิบายจิตสำนึกของมนุษย์ว่าเป็นองค์ประกอบของความคิดขั้นสูง อันเป็นผลของกระบวนการเสริมสร้างคุณลักษณะของตนเอง จากประสบการณ์ที่ได้รับโดยผ่านกระบวนการสร้างสื่อกลางที่สะท้อนประสบการณ์เข้าสู่ความคิดในรูปของภาษา
ตามพื้นฐานทางชีวภาพและทางความคิดที่แต่ละคนมีอยู่ในขณะนั้นๆ แนวคิดการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ อธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการทางสติปัญญากับการเรียนรู้ว่า พัฒนาการทางสติปัญญาเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ และการเรียนรู้จะเพิ่มพูนพัฒนาการทางสติปัญญา แต่การเพิ่มพูนดังกล่าวจะเป็นไปได้ในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถใน
การเรียนรู้ของผู้เรียน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างผู้เรียนและผู้ร่วมงานในช่วงประสบการณ์นั้น (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 38) จึงน่าจะเป็นไปได้ที่จะนำกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้มาใช้เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยจะศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ได้แนวทางที่จะนำกระบวนการเรียนการสอนนี้มาพัฒนาเป็นงานวิจัยต่อไป
                ในการสอนแบบเดิมๆ การแลกเปลี่ยนกันทางการเรียนรู้ เชื่อว่าส่งผ่านจากผู้สอนสู่ผู้เรียน (Rogoff, 1994, unpaged; Lave, & Wenger, 1991, unpaged) เลฟและเวนเจอร์ (Lave, & Wenger, 1991, unpaged) เห็นว่าการเรียนและพัฒนาการเป็นการแลกเปลี่ยนของผู้สนใจในกิจกรรม จากสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นกระบวนการ การเป็นคนใหม่ผ่านกิจกรรมที่มีคุณค่าทางสังคม ศูนย์รวมของความคิดนี้ไม่เพียงแต่การเรียนรู้เกิดเท่านั้น แต่ชนิดของสิ่งที่เรียนรู้แบบใดได้รับการส่งเสริมโดยความสนใจในกิจกรรม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น