วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (12)

ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ
               1.  ความหมายของการอ่าน
                    การอ่านเป็นทักษะที่มีความสำคัญมาก เพราะการอ่านจะทำให้ได้รับความรู้
ความเข้าใจ ความเพลิดเพลิน เกิดแนวคิด จินตนาการ การแก้ปัญหา การนำไปใช้ ซึ่งได้มี
นักการศึกษาหลายท่านที่ได้ให้ความหมายของการอ่านไว้ดังนี้
                วิจิตรา นรสิงห์ (2540, หน้า 10) ได้ให้นิยามของการอ่านซึ่งได้จัดหมวดหมู่ไว้ในลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
                1.1  การอ่านเป็นกระบวนการ
                      1.1.1  การอ่านเป็นกระบวนการสารสนเทศของผู้อ่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่าน กลุ่มนี้สนในกระบวนการจัดสารสนเทศและได้ดำเนินการศึกษากระบวนการสื่อสาร เพื่อนำมาอธิบายกระบวนการจัดสารสนเทศขณะที่อ่าน
                             1.1.2  การอ่านเป็นกระบวนการทางสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิดและการใช้สติปัญญาในการตีความเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่อ่าน ตัวอักษรนั้นทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้อ่านระลึกถึงความหมายซึ่งผู้อ่านทราบมาแล้วจากประสบการณ์ในอดีต การทำความเข้าใจเพื่อให้ได้ความหมายจึงเกิดจากการระลึกและใช้มโนทัศน์ที่ผู้อ่านมีอยู่แล้ว แต่ถ้าสิ่งที่อ่านมีความหมายใหม่ ผู้อ่านต้องใช้มโนทัศน์หลายอย่างจึงจะเข้าใจสิ่งที่อ่านและได้ความหมายใหม่นั้น
                      1.1.3  การอ่านเป็นกระบวนการภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ทักษะต่างๆ เพื่อให้ได้ความหมายตามที่ผู้เขียนต้องการ
                  1.1.4  การอ่านเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์และการตีความผู้อ่านมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อความที่อ่าน ผู้อ่านสามารถที่จะตีความเรื่องที่อ่านได้มากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับพื้นความรู้ของผู้อ่าน รวมทั้งเดาความหมายของผู้เขียนด้วย
                1.2  การอ่านเป็นทักษะ
                1.3  การอ่านเป็นความเข้าใจ
                อารี มากมณี (2541, หน้า 13) ได้สรุปความหมายของการอ่านว่า การอ่านเป็น
การแปลความหมายของตัวอักษรออกมาเป็นความคิด เข้าใจความหมายของตัวอักษร เข้าใจ
ความต้องการของผู้เขียน และนำความรู้หรือความคิดที่ได้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์
                ภิญโญ ช่างสาน (2542, หน้า 223) ได้สรุปความหมายของการอ่านว่า การอ่านหมายถึงกระบวนการรับรู้สารโดยการค้นหาความหมายหรือความเข้าใจจากตัวอักษร ถ้อยคำหรือข้อความจากงานเขียนต่างๆ ออกมาเป็นความคิดและนำความคิดเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
                สมพร แพ่งพิพัฒน์ (2542, หน้า 5) ได้ให้ความหมายของการอ่าน โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้ การอ่าน คือ การรับรู้ความหมายจากถ้อยคำที่ตีพิมพ์อยู่ในสิ่งที่ตีพิมพ์หรือหนังสือโดยผู้อ่านรู้ว่าผู้เขียนได้ส่งสารอะไรมายังผู้อ่าน ทั้งในด้านความคิด ความรู้ ความหมายและความสัมพันธ์กับ
สิ่งอื่นว่าผู้เขียนตั้งใจจะแสดงความคิดอย่างไร และมีความหมายว่ากระไร เกี่ยวข้องถึงอะไรบ้าง ลำดับขั้นของการอ่านจะเริ่มต้นตั้งแต่การทำความเข้าใจในถ้อยคำในแต่ละคำ กลุ่มคำแต่ละกลุ่มคำและเรื่องราวที่เรียงต่อเนื่องกันอยู่ในย่อหน้าหนึ่งหรือในตอนหนึ่งหรือในเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านต้องทำความเข้าใจไปทีละขั้นตอนเป็นลำดับ
                ดนยา วงศ์ธนะชัย (2543, หน้า 4) ได้กล่าวถึงการอ่านไว้ดังนี้ การอ่านเป็นกระบวนการที่ผู้อ่านรับรู้ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์แล้วแปลความหมายของตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ เป็นความเข้าใจซึ่งหมายถึงผู้อ่านรับรู้สารที่ผู้เขียนต้องการสื่อ
             มอร์ริส และโดฟ (Morris, & Dove, 1984, p.14) ได้กล่าวถึงการอ่านว่าคือ กระบวนการซึ่งผู้อ่านรับรู้ข่าวสารซึ่งถูกเสนอไว้ในรูปรหัสพิเศษ ผู้เขียนเป็นผู้ส่งข่าว ผู้อ่านจึงเป็น
ผู้แปลรหัสเท่านั้น ความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้อ่าน อันก่อให้เกิดการนำไปสู่เป้าหมายหลักของการอ่านที่ว่า ผู้อ่านต้องคิดเป็นและเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่าน
                แลพพ์ และฟลัด (Lapp, & Flood, 1986, pp.5-6) ได้ระบุว่า โดยทั่วไปนิยามการอ่านแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับแรก เป็นกระบวนการแปลรหัสจากตัวอักษรเป็นเสียงและระดับ
ที่สอง เป็นกระบวนการรับความหมายของตัวอักษรหรือเรียกว่าการอ่านเพื่อความเข้าใจ แต่ทั้งนี้
การอ่านเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน การที่ผู้อ่านจะเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนเขียน ผู้อ่านจะต้องรับรู้ แปลความ ตีความ ตั้งสมมติฐานและประเมินสิ่งที่อ่านได้ กระบวนการดังกล่าวจะมีอัตราวามเร็วแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยของผู้อ่านต่อเนื้อหาของสิ่งที่อ่านได้และจุดประสงค์ในการอ่านของผู้อ่านด้วย
                จากนิยามที่ได้กล่าวมาเกี่ยวกับการอ่านทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า การอ่านเป็นกระบวนการตีความภายในสมอง จากภาษาสัญลักษณ์เป็นความหมายที่เข้าใจโดยผู้ที่อ่าน
ซึ่งการอ่านนั้นเป็นการสื่อความหมายจากผู้ส่งสารถึงผู้รับสารตามประสบการณ์ของผู้รับสารเอง
            2.  ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ
                นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านได้จำแนกความสามารถทางการอ่านเป็น 3 ระดับ ซึ่งสอดคล้องกับ ดัลล์แมน, และคนอื่นๆ (Dallman, & et al., 1974, pp. 53-55)
                1. ความสามารถในการแปลความ (literal comprehension) หมายถึง ความสามารถในการทำความเข้าใจข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอไว้อย่างชัดเจน
                2. ความสามารถในการตีความ (inferential comprehension) หมายถึง ความสามารถในการทำความเข้าใจข้อมูลและความคิดของผู้เขียนที่ไม่ได้กล่าวไว้อย่างตรงไปตรงมา
                3. ความสามารถในการวิเคราะห์ (critical comprehension) หมายถึง ความสามารถในการประเมินสิ่งที่อ่านโดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ถึงเรื่องที่จะเกิดตามมาได้ หรือบอกได้ว่า ข้อสรุปของงานเขียนนั้นๆ ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เป็นต้น
                นอกจากนี้ มิลเลอร์ (Miller, 1990, p.25) ยังแบ่งความสามารถในการอ่านเข้าใจความออกเป็นระดับต่างๆ เป็น 4 ระดับ ได้แก่
                1. ความสามารถในระดับการแปลความ (textually explicit comprehension) เป็นระดับที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจความในสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในบทอ่านอย่างตรงไปตรงมาได้ ผู้อ่านในระดับนี้ จะสามารถระบุความคิดหลัก ความคิดรองของเรื่อง หรือจัดเรียงลำดับเหตุการณ์หัวข้อเรื่องต่างๆ ในบทอ่านได้
                2. ความสามารถในระดับการตีความ (textually implicit comprehension) เป็นระดับที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอไว้ในบทอ่านอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ผู้อ่านจะต้องใช้เหตุผลและความรู้ของตนเข้ามาช่วยตัดสินทำความเข้าใจข้อมูลในบทอ่านนั้นๆ ผู้อ่านในระดับนี้ สามารถที่จะตอบคำถามเชิงอ้างอิงได้ (implicit or interpretive comprehension question) สามารถสรุปและคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ รวมทั้งรับรู้ถึงอารมณ์ความคิด วัตถุประสงค์ของผู้เขียน ตลอดจนสามารถระบุความคิดหลักของเรื่องที่ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอไว้
                3. ความสามารถในระดับการวิเคราะห์ (critical reading) เป็นระดับความสามารถในการวิเคราะห์ตีความ และประเมินเนื้อหาที่อ่าน โดยสามารถแยกความแตกต่างของข้อมูลว่า อะไรคือข้อเท็จจริง และอะไรเป็นเพียงความเชื่อหรือความคิดเห็นของผู้เขียน และสามารถเปรียบเทียบเนื้อหาที่อ่านกับข้อมูลที่พบจากแหล่งอื่นๆ ได้ตลอดจนเข้าใจภาษาเชิงอุปมาอุปมัยที่ผู้เขียนนำมาใช้ และยังสามารถบอกได้ว่า ผู้เขียนมีทีศนคติต่อเรื่องที่นำเสนออย่างไร
             4. ความสามารถในระดับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (scripturally implicit comprehension) เป็นความเข้าใจในระดับสูง ที่ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องที่อ่านได้นอกเหนือจากสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ ผู้อ่านจะต้องใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่เข้ามาเชื่อมโยงกับสิ่งที่พบในบทอ่านเพื่อทำการสังเคราะห์เนื้อหาในบทอ่านนั้น
                จากที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปได้ว่าความสามารถในการอ่านมี 4 ระดับคือ
                1. ความสามารถในการแปลความ
                2. ความสามารถในการตีความ
                3. ความสามารถในการวิเคราะห์
                4. ความสามารถในด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
                เพราะฉะนั้น ในการสอนอ่านเพื่อความเข้าใจความ ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึงระดับความสามารถในการอ่านด้วย ว่าต้องการที่จะให้นักเรียนมีความสามารถในระดับใด และวิธีการเช่นไรที่สามมารถช่วยการอ่านด้วย ต้องการที่จะให้นักเรียนมีความสามารถในระดับใด และวิธีการเช่นไรที่จะสามารถช่วยให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ หรือมีความสามารถในการอ่านในแต่ละระดับได้
            3. ความสำคัญและจุดมุ่งหมายของการอ่าน
                การอ่านมีบทบาทสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตในสถานการณ์สังคมปัจจุบัน ซึ่งมี
การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาตนเองและสังคม
เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการแสวงหาความรู้ การรู้และใช้วิธีอ่านที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้อ่านทุกคน การรู้จักฝึกฝนการอ่านอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้ผู้อ่านมีพื้นฐานในการอ่านที่ดี ทั้งจะช่วยให้เกิดความชำนาญและมีความรู้กว้างขวางขึ้นด้วย ดังนั้นการที่ผู้เรียนจะเป็นผู้อ่านที่ดีจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ผู้สอนเป็นผู้จัดเตรียมให้ อีกทั้งยังต้องผสมผสานกับความสนใจของผู้อ่าน
เพื่อเป็นแรงจูงใจที่จะช่วยให้นักเรียนได้อ่านอย่างสม่ำเสมอ (กาญจนา เชื่อมศรีจันทร์, 255
2,
ย่อหน้า 1-9)
                การอ่านมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ ดังที่นักการศึกษาที่สำคัญหลายท่านได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
                ฟ้อน เปรมพันธุ์ (2542, หน้า 105) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านไว้ดังนี้
การอ่านเป็นกระบวนการของการรับสารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์
เกือบทั้งสิ้น หนังสือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขไปสู่โลกแห่งสรรพวิทยาการ โลกแห่งความเพลิดเพลินและจินตนากรโดยไม่จำกัดเวลาสถานที่และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
                เพ็ญจา สุริยกานต์ (2544, หน้า 10) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการอ่าน ซึ่งได้สรุปไว้ว่า การอ่านเป็นทักษะที่สำคัญและมีคุณค่าเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นทักษะที่นักเรียนใช้แสวงหาสรรพวิชาต่างๆ เพื่อความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ ผู้ที่มีนิสัยรักการอ่าน มีอัตราเร็วในการอ่านสูงย่อมแสวงหาความรู้และการศึกษาเล่าเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการอ่านยังทำให้เกิดพัฒนาการไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ พฤติกรรม ประสบการณ์และการดำเนินชีวิต ศีลธรรม จริยธรรม ค่านิยม ช่วยปรับปรุงชีวิตให้สมบูรณ์ได้เรียนรู้โดยไม่สิ้นสุด
                อัชฌา ชื่นบุญ (2544, หน้า 9) ได้สรุปความสำคัญของการอ่านไว้ดังนี้ การอ่านมีความสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิตของบุคคลในสังคม ช่วยให้ผู้อ่านมีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ ความคิดกว้างไกล ใช้ในการแสวงหาความรู้ ซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
                จากที่กล่าวมาแล้วนั้น อาจกล่าวได้ว่า การอ่านมีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพราะการอ่านทำให้ได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นอีกทั้งการอ่านยังเป็นการแสวงหาความรู้เพื่อให้บุคคลทันต่อเหตุการณ์ ทันต่อโลกและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
การอ่านมีส่วนช่วยในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและสังคม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนสติปัญญาของตน ในด้านการศึกษาการอ่านถือเป็นกุญแจสำคัญในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ตลอดจนความเพลิดเพลิน จึงถือได้ว่าการอ่านเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดปัญญา บุคคลที่มีความเข้าใจในเรื่องที่อ่านอย่างแท้จริงย่อมสามารถนำความรู้ความคิดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคมได้เป็นอย่างดี ความสามารถในการอ่านจึงควรได้รับ
การปลูกฝังและส่งเสริมให้เกิดในตัวบุคคล เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
                จะเห็นได้ว่าการอ่านมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน และนอกจากความสำคัญของการอ่านที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ความมุ่งหมายของการอ่านยังจัดได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จำเป็นและควรทำการศึกษา เพราะบุคคลแต่ละคนนั้นย่อมมีจุดมุ่งหมายในการอ่านที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้การอ่านนั้นมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามจุดมุ่งหมาย ได้มีนักการศึกษาได้กล่าวไว้ ดังนี้
             สมพร แพ่งพิพัฒน์ (2542, หน้า 11-12) ได้กล่าวว่า โดยทั่วไปนั้นการอ่านมี
ความมุ่งหมายสำคัญ 4 ประการ คือ
                1.  การอ่านเพื่อความรู้ การอ่านเพื่อให้ได้ความรู้แบ่งเป็นวัตถุประสงค์ย่อยออกเป็น
5 ประเด็น คือ
                    1.1  การอ่านเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ต้องการ
                    1.2  การอ่านเพื่อหาความรู้ต่างๆ ทั้งโดยละเอียดและโดยย่อ
                    1.3  การอ่านเพื่อการรับรู้ข่าวสาร ข้อเท็จจริง
                    1.4  การอ่านเพื่อศึกษาค้นคว้าเป็นพิเศษ เช่น นำไปใช้ประโยชน์เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเพื่อตำราวิชาการ
                    1.5  การอ่านเพื่อรวบรวมข้อมูลเผยแพร่ อันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
                2. การอ่านเพื่อความบันเทิง เป็นการอ่านเพื่อการพักผ่อน ผ่อนคลายอารมณ์หลังงานประจำ ได้แก่ การอ่านหนังสือประเภท เรื่องสั้น นิทาน นิยาย นวนิยาย บทละคร
ทั้งระดับที่เป็นวรรณกรรมหรือวรรณคดี โดยเน้นความรื่นรมย์เป็นสำคัญ
                3. การอ่านเพื่อหาความคิดแปลกใหม่ ในกระบวนการอ่านที่สำคัญนั้น ความรู้ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งแต่ความคิดยิ่งสำคัญกว่า โดยเฉพาะความคิดแปลกใหม่ซึ่งจะเป็นชนวนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในตัวผู้อ่านด้วย
                4. การอ่านเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการอ่านเป็น
การพัฒนาความรู้ ความคิดและวิสัยทัศน์ให้กว้างขวางขึ้น สามารถที่จะเข้าร่วมวงสนทนาได้กับทุกคนทุกชั้นทุกวัย เพราะรับรู้ข่าวสารที่จะแลกเปลี่ยนด้วยกันได้และการอ่านมากรู้มากนั้นย่อมทำให้บุคคลเป็นที่ยอมรับของสังคม ผู้อ่านสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอ่านมาปรับปรุงบุคลิกภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างดี
                อำไพ เกียรติชัย (2544, หน้า 2-3) ได้สรุปจุดหมายของการอ่านไว้ ดังนี้
                1. อ่านเพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจของตนเองในเรื่องที่เรียน
                2. อ่านเพื่อพัฒนาความคิดรวบยอดใหม่ๆ
                3. อ่านเพื่อขยายประสบการณ์อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินชีวิต
             สมุทร เซ็นเชาวนิช (2551, หน้า 3) ได้แบ่งจุดมุ่งหมายของการอ่านออกเป็น
2 ประเภท ดังนี้
                1. การอ่านเพื่อการศึกษา เป็นการอ่านที่มีจุดมุ่งหมายและต้องการคลอบคลุม
ด้านเนื้อหาให้ได้มากที่สุดรวมถึงความหมายตรงและความหมายแฝงของคำศัพท์ที่อ่านด้วย
                2. การอ่านเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิง เป็นการอ่านเพื่อความรื่นรมย์หรือ
เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเป็นการอ่านที่ไม่ต้องการความเข้าใจลึกซึ้งมากนัก
                จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสามารถสรุปจุดมุ่งหมายของการอ่านได้ ดังนี้
                1. อ่านเพื่อศึกษาหาความรู้
                2. อ่านเพื่อรับรู้ข่าวสารข้อเท็จจริง
                3. อ่านเพื่อความเพลิดเพลินบันเทิงใจ

                4. อ่านเพื่อใช้ในวิชาชีพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น