วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสารและงานวิจัย (13)

4.  ประเภทของการอ่าน
                สุภัทรา อักษรานุเคราะห์ (2532, หน้า 88-89) ได้แบ่งประเภทการอ่านไว้ 4 ประเภท ดังนี้
                1. การอ่านแบบเปิดอ่านไปอย่างรวดเร็ว (skimming) ผู้เรียนจะต้องได้รับการฝึกฝนให้ตั้งคำถามไว้ในในก่อนเริ่มอ่าน คือ รู้จุดประสงค์ของเรื่องที่อ่าน ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนให้รู้จัก
การคาดเดาความ และเลือกจับใจความ เป็นต้น
                2. การอ่านแบบต้องการข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง (scanning) เช่น การอ่าน วันที่ ตัวเลข สถานที่ ผู้สอนต้องฝึกฝนผู้เรียนให้รู้จักหัดอ่านทั้ง การอ่านอย่างรวดเร็ว (skimming) และการอ่านแบบต้องการข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง (scanning) โดยเลือกบทเรียนที่ช่วยในการฝึกอ่าน เช่น ข่าวในหนังสือพิมพ์ ข่าวกีฬาและโฆษณาสินค้าต่างๆ ผู้เรียนจะรู้จักการจับใจความสำคัญโดยละเว้น
การอ่านโดยการแปลคำต่อคำ
                3. การอ่านเพื่อหารายละเอียด (through reading หรือ receptive reading) ซึ่งผู้เรียนจะต้องเข้าใจข้อเขียนทั้งใจความสำคัญและรายละเอียดปลีกย่อย แต่ไม่ได้หมายถึงจะต้องเข้าใจคำทุกคำ
                4. การอ่านเชิงวิเคราะห์ (critical reading) การอ่านแบบนี้เยากที่สุดและควรใช้ในระดับที่สูงขึ้น เพราะผู้อ่านจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อข้อเขียนที่ตนอ่าน โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่มาสนับสนุนหรือโต้แย้งต่อข้อเขียนนั้นๆ การอ่านระดับนี้ ผู้เรียนจะต้องมีโอกาสอภิปรายแสดงความคิดเห็นหลังการอ่าน ซึ่งเป็นลักษณะที่ผู้อ่านมีปฏิกิริยาต่อข้อเขียน (active reader) มิใช่การอ่านแบบไม่มีปฏิกิริยาต่อข้อเขียน (passive reader)
                กาญจนา วิชญาปกรณ์ (2533, หน้า 31) ได้แบ่งประเภทของการอ่านออกเป็น
2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
                1.  การยึดลักษณะคำประพันธ์ของหนังสือเป็นหลัก ได้แก่
                    1.1 การอ่านร้อยแก้ว
                    1.2 การอ่านร้อยกรอง
                2.  การยึดวิธีการอ่านเป็นหลัก ได้แก่
                     2.1 การอ่านออกเสียง
                     2.2  การอ่านในใจ ได้แก่ การอ่านเพื่อจับใจความ การอ่านอย่างวิเคราะห์ การอ่านตีความหรือการพินิจสารและการอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์
                จากการศึกษาการแบ่งประเภทของการอ่านนั้น สามารถสรุปได้ว่าประเภทของ
การอ่านนั้นจะขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการอ่านเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านประเภทใดนั้น ผู้อ่านจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน คือ สามารถตีความ แปลความและขยายความได้
อีกทั้งสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับทราบ จึงจะถือว่าการอ่านนั้นเกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์
               5.  จิตวิทยาในการอ่าน
                    การอ่านเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างการมองเห็น การได้ยินและการแปลความของสมอง ดังนั้นการอ่านที่จะได้ผลจำเป็นที่จะต้องมีลำดับขั้นของการคิด ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งขั้นสูงสุด
                นฤมล กังวาลไกล (2534, หน้า 22) กล่าวถึงจิตวิทยาในการอ่านมีหลักสำคัญควรยึดหลัก 3 ประการ คือ
                1.  การเสริมแรง (reinforcement) เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยในการวางเงื่อนไขในการเรียนการสอนให้มีความมั่นคงถาวรในการเรียนอ่าน การฝึกอ่านแต่อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องอาศัย
การเสริมแรงด้วย
                2.  การหยั่งเห็น (insight) เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยพลันของเด็ก หลังจากที่เด็กได้ลองผิดลองถูกมาหลายครั้งแล้ว
                3. ทฤษฎีการพัฒนาการของเพียเจต์ (Piaget) เพียเจต์ได้กล่าวว่า ความรู้สึกคือ ประสบการณ์ที่ได้รับต่อเนื่องมาจากอดีต กล่าวคือ เมื่อเด็กมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกแล้วจะเก็บผลลัพธ์นั้นไว้ในตัวเมื่อเด็กพบเหตุการณ์เช่นเดิมอีกเด็กจะผสมผสานความรู้ใหม่กับความรู้เก่าเข้าด้วยกัน ประสบการณ์เดิมทำให้เกิดความคิดต่างๆ ที่นำไปใช้ในการทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เด็กพบครั้งต่อไป
                สุนันทา มั่นเศรษฐวิทย์ (2539, หน้า 97) ได้กล่าวถึงทฤษฎีทางจิตวิทยาการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ดังนี้
                1. ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike) ซึ่งเน้นทางด้านสติปัญญาโดยกล่าวว่า ผู้ที่มีสติปัญญาดีจะสามารถรับรู้และอ่านจับใจความได้ในเวลาอันรวดเร็ว และการให้นักเรียนได้รับการฝึกฝนบ่อยๆ ก็เป็นวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนมีทักษะในการอ่านจับใจความที่ดี
                2. ทฤษฎีการให้สิ่งเร้าและการตอบสนองของ สกินเนอร์ (Skinner) เน้นการกระทำซ้ำๆ จนตอบสนองอัตโนมัติ ดังนั้นการจัดหาเรื่องที่ตรงกับความสนใจก็จะเป็นสิ่งเร้าที่ช่วยให้เกิดความต้องการที่จะอ่าน ก่อให้เกิด การตอบสนองที่ดี
                3. ทฤษฎีของเกสตัลท์ (Gestalt) เน้นความสำคัญของการจัดเตรียม คือ กฎของ
การรับรู้ที่ประยุกต์เข้ามาสู่การสอนอ่าน แยกเป็นกฎ 3 ข้อ คือ
                     3.1  กฎของความคล้าย (the principle of similarity) เป็นการจัดสิ่งที่มีความคล้ายกัน ไว้ด้วยกัน
                     3.2  กฎของความชอบ (the principle of nearness) เป็นการพิจารณาจากการที่ผู้เรียนได้อ่านในสิ่งที่ตนชอบ ก็จะช่วยให้กิจกรรมการเรียนการสอนอ่านมีความหมายต่อตัวนักเรียน
                     3.3  กฎของความต่อเนื่อง (the principle of continuation) เป็นการพิจารณาโครงสร้างของการสอนอ่านให้มีลักษณะต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการอ่านเป็นไปโดยไม่หยุดชะงัก
                พรรณี เศวตมาลย์ (2543, หน้า 15) ได้สรุปจิตวิทยาในการอ่านไว้โดยกล่าวว่า
การอ่านเป็นการทำงานที่สัมพันธ์กับสองกระบวนการ คือ กระบวนการกลไก ในการนำสิ่งเร้าเข้าสู่สมองและการรับรู้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการแปลความของสิ่งเร้าหลังจากที่เข้าสู่สมองแล้ว โดยสมองของผู้อ่านจะให้ความหมายแก่สัญลักษณ์ที่เป็นตัวอักษร ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะสามารถสร้างประสบการณ์จากสัญลักษณ์ได้เพียงใด ผู้อ่านจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงสัญลักษณ์เหล่านั้นให้เข้ากับประสบการณ์เดิมจึงจะสามารถเข้าใจความหมายได้
                ดังนั้น ผู้สอนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับจิตวิทยาใน
การอ่าน เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลต่อผู้เรียน เพื่อให้เกิดการตอบสนองที่ดีจากผู้เรียน
                    5.1  องค์ประกอบของความสามารถในการอ่านและปัจจัยที่มีผลต่อการอ่าน
                     เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าความสามารถของบุคคลแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน
มีความแตกต่างกัน ความสามารถในการอ่านก็เช่นเดียวกัน ผู้อ่านแต่ละคนมีความสามารถต่างกัน ซึ่งผู้สอนจะต้องมีความเข้าใจในปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ระดับความสามารถของผู้อ่านแตกต่างกัน รูบิน
(Rubin, 1993, p. 210) ได้กล่าวว่า ผู้อ่านที่มีความสามารถและเข้าใจในการอ่านระดับสูงจะเป็นผู้ที่มีกลยุทธ์ในการอ่านสูง สามารถถอดรหัสได้อย่างรวดเร็ว รู้คำศัพท์มา มีความระมัดระวังในด้านภาษาศาสตร์ และมีกลยุทธ์ที่จะช่วยให้มีความเข้าใจในการอ่านและการจดจำ ในขณะเดียวกันผู้ที่เริ่มฝึกทักษะการอ่านและผู้ที่มีความสามารถด้านการอ่านในระดับต่ำนั้น จะมุ่งถอดรหัสคำต่อคำ ไม่สามารถปรับทักษะการอ่านที่มีลักษณะบทอ่านและเป้าหมายของการอ่านแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังขาดการทบทวน แก้ไข ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนด้วยการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ดังที่นักการศึกษาหลายท่านกล่าวไว้ ดังนี้
                     กาญจนา วิชญาปกรณ์ (2533, หน้า 3-4) กล่าวถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการอ่านว่ามีอยู่ 3 ประการ คือ
                     1. สาร คือ สิ่งที่ส่งมาจากผู้เขียน โดยการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด
                     2. สื่อ คือ สิ่งที่เป็นตัวถ่ายทอดสารของผู้เขียนออกมาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน
                     3. ผู้อ่าน คือ ผู้รับสารโดยผ่านสื่อที่ผู้เขียนแสดงออกมา
                     สุมิตรา อังวัฒนกุล (2540, หน้า 83) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่มีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการอ่าน สรุปได้ดังนี้
                     1. ภูมิหลังของประสบการณ์ ประสบการณ์เป็นตัวประกอบหนึ่งที่มีส่วนทำให้คนแต่ละคนมีความสามารถในการอ่านแตกต่างกันออกไป ถ้าผู้เรียนได้อ่านหนังสือที่ใช้คำศัพท์ที่ตนมีประสบการณ์มาแล้วก็จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจเรียนรู้โครงสร้างทางภาษาได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้ประสบความสำเร็จในการอ่านเพิ่มมากขึ้น
                     2. วุฒิภาวะ ซึ่งหมายถึงขีดความสามารถที่ปรากฏออกมาของคนแต่ละบุคคล
วุฒิภาวะนี้จะมีการพัฒนาการเป็นลำดับขั้นและเป็นตัวบ่งชี้ถึงความพร้อมในการอ่าน ดังนั้นผู้สอนที่ทำการสอนอ่านจึงต้องสังเกตระดับวุฒิภาวะของผู้เรียน และเลือกหนังสือที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนที่ตนจะสอน จึงจะทำให้การสอนอ่านเกิดผลสัมฤทธิ์
                     3. พัฒนาการด้านสติปัญญา สติปัญญามีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการอ่านเพราะการอ่านเป็นกระบวนการทางความคิด โดยความสามารถทางสติปัญญาจะมีส่วนช่วยให้เห็นความคล้ายคลึง ความแตกต่างของสิ่งที่อ่าน สามารถจำและคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมตลอดจนเชื่อมโยงความคิดกับสิ่งที่อ่านได้ ทำให้เข้าใจสิ่งที่อ่านได้ดีและรวดเร็วขึ้น
                     4. พัฒนาการด้านร่างกาย เนื่องจากการอ่านเป็นกระบวนการรับรู้ ตอบสนองต่อสัญลักษณ์จากการเห็น การได้ยินและการคิด ซึ่งเป็นการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้น พัฒนาการทางด้านร่างกายจึงมีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการอ่านอย่างยิ่ง
                     5. พัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม อารมณ์และสังคมมีอิทธิพลต่อการอ่าน ขณะเดียวกันความล้มเหลวหรือความสำเร็จในการอ่านก็มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมด้วย โดยปกติพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมจะเป็นไปตามลำดับขั้น ดังนั้นผู้สอนจึงต้องเข้าใจหลักความจริง หลักการและพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม เพื่อจะได้สามารถสอนอ่านโดยไม่ขัดต่อพัฒนาการตามปกติ
                     6. พัฒนาการด้านความสนใจ ความสนใจนั้นมีความสัมพันธ์ต่อความสามารถในการอ่าน พัฒนาการทางด้านความสนใจเป็นกระบวนการที่ต้องมีแรงจูงใจ ซึ่งครูผู้สอนสามารถส่งเสริมความสนใจและรสนิยมการอ่านได้โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนอ่านมากๆ อ่านสิ่งที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของตนเอง เป็นต้น
                     สมพร แพ่งพิพัฒน์ (2542, หน้า 13) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการอ่านไว้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่จะนำไปสู่การรับรู้ การเรียนรู้ ความเข้าใจในสารที่ส่งมาจากผู้เขียนย่อมมีองค์ประกอบสำคัญรวม 5 ประการ คือ
                     1. ผู้อ่าน
                     2. ตัวอักษร
                     3. ความหมาย
                     4. การเลือกความหมาย
                     5. การนำไปใช้
                     กู๊ดแมน (Goodman, 1971, pp.25-27) กล่าวถึงองค์ประกอบในการอ่านว่ามี 4 ข้อ คือ
                     1. ความรู้ทางภาษา (linguistic knowledge) ซึ่งระยะเริ่มต้น ผู้อ่านจะเรียนรู้เพียงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับตัวอักษรที่ปรากฏ และความหมายของคำศัพท์ เมื่อมีประสบการณ์ในการอ่านมากขึ้น ผู้อ่านจะสามารถทำความเข้าใจภาษาที่ปรากฏในบทอ่านได้มากยิ่งขึ้น
                     2. ประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน (schema) ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับบทอ่าน และความรู้เดิมที่ผู้อ่านมีอยู่ก่อนแล้ว
                     3. ความสมบูรณ์เกี่ยวกับความคิด รวบยอดหรือความหมายของคำ (conceptual or semantic completeness) ถ้าบทอ่านนั้นมีเนื้อเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ จะทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่อ่านได้ นอกจากผู้อ่านจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเนื้อเรื่องในบทอ่านมาก่อน
                     4. ความสามารถในการวิเคราะห์โครงสร้างของงานเขียน (text schema) โครงสร้างของงานเขียนแต่ละชิ้นนั้น จะแตกต่างกัน และผู้เขียนจะนำเสนอความเชื่อและวัฒนธรรมของผู้เขียนรวมอยู่ด้วย หากผู้อ่านมีวัฒนธรรม และประสบการณ์เดิมที่แตกต่างไป อาจไม่ประสบความสำเร็จในการอ่านงานเขียนนั้น
                     แฮริส, และสมิธ (Harris, & Smith, 1976, p.235) และโคดี้ (Coady, 1979, pp. 5-10) กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความเข้าใจในการอ่าน คือประสบการณ์เดิมของผู้อ่านจะทำให้ผู้เรียน ทำความเข้าใจในเรื่องที่อ่านได้ง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจด้วย อีกทั้งแฮริสและสมิธ ได้ให้ความหมายเพิ่มเติม คือความสามารถทางภาษา ได้แก่ ความสามารถในการที่จะเข้าใจความหมายของคำศัพท์ใหม่ๆ จากบริบท ความสามารถที่จะเข้าใจโครงสร้างของประโยค และความสามารถที่จะเข้าใจเครื่องหมายวรรคตอน ตัวพิมพ์ ความสามารถทางภาษา
เจตคติที่มีต่อสิ่งที่อ่าน และจุดประสงค์ในการอ่าน ส่วนโคดี้ ได้เพิ่มกลวิธีการอ่านเข้ามาด้วย
                     แฮริส, และชิเพย์ (Harris, & Sipay, 1979, pp.15–18) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการอ่านว่า องค์ประกอบที่ส่งผลในการอ่านให้ประสบผลสำเร็จ คือ
                     1. องค์ประกอบทางปัญญา ซึ่งได้แก่ สติปัญญาของผู้เรียนเอง
                     2. องค์ประกอบทางกาย
                     3. องค์ประกอบทางสังคม วัฒนธรรม ความก้าวหน้าทางการอ่านของผู้เรียนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ผู้เรียนได้รับอยู่ทุกวันจะเป็นตัวสนับสนุนให้ผู้เรียนนั้นเป็นนักอ่านที่ดีได้
                     4. ความพร้อมของผู้เรียน ในด้านตัวผู้เรียนเองควรดูว่าวุฒิภาวะของผู้เรียนอยู่ในระดับใดก็หาทางช่วยเหลือส่งเสริมเท่านั้น รวมทั้งเรื่องจิตใจด้วย ครูผู้สอนต้องสร้างให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมก่อนเริ่มเรียน
                     เกรย์ (Gray, 1984, pp.35–36) กล่าวว่า ความสามารถทางการอ่านของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังต่อไปนี้
                     1. การรู้จักคำ ผู้อ่านจะต้องอ่านหนังสือให้เข้าใจก็ต่อเมื่อมีความสามารถใน
การอ่านตัวอักษรและเข้าใจความหมายตรงกับผู้เขียน ซึ่งการเข้าใจความหมายของคำเป็นทักษะเบื้องต้นของการอ่านทุกประเภท
                     2. การเข้าใจความคิดของผู้เขียน
                     3. การมีปฏิกิริยาโต้ตอบความคิดของผู้เขียน ซึ่งเป็นการประเมินความคิดของผู้เขียนจากเรื่องที่อ่าน ซึ่งอาจเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้
                     4. ทักษะในการผสมผสานความคิดใหม่กับความคิดเก่าจากเรื่องที่อ่าน หมายถึง การรวมความคิดที่ได้รับจากเรื่องที่อ่านกับประสบการณ์ของผู้อ่าน
                     วิลเลี่ยม (Williams, 1986, pp.3–7) ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ช่วยให้การอ่านนั้นมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้
                     1. ความรู้ในระบบการเขียน (knowledge of writing)
                     2. ความรู้เรื่องภาษา (knowledge language)
                     3. ความสามารถในการตีความ (ability of interpretation)
                     4. ความรู้รอบตัวทั่วไป (knowledge of the world)
                     5. เหตุผลในการอ่านและวิธีการอ่าน (reason of reading and reading of style)
                 คาสาเนฟ, และวิลเลี่ยม (Casanave, & Williams, 1987, pp. 2-3) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าการอ่านที่ประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องประกอบไปด้วย องค์ประกอบต่อไปนี้ คือ
                     1. ความสามารถในการถอดรหัสของผู้อ่านหรือความสามารถในการเข้าใจหรือตีความตัวอักษรที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในงานเขียนนั้น
                     2. ความเหมาะสมของบทอ่าน ซึ่งหมายถึงบทอ่านที่เขียนโดยใช้โครงสร้างไวยากรณ์ที่ผู้อ่านเคยเรียนรู้มาก่อนแล้ว
                     3. ความสามารถในการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยของผู้อ่าน
                     นูแนน (Nunan, 1989, p.35) กล่าวถึง องค์ประกอบในการอ่านว่า ประกอบด้วย
                     1ความสามารถในการเชื่อมโยงคำ เช่น เชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษร
                     2. ความรู้ทางไวยากรณ์ เพื่อช่วยในการตีความ
                     3. ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการต่างๆ ในการอ่าน เพื่อผู้อ่านจะได้เลือกใช้ได้ตรงตามจุดประสงค์
                     4. ความสามารถในการนำความรู้เดิม มาสัมพันธ์กับเรื่องที่อ่าน
                     5. ความสามารถที่จะทราบถึงจุดประสงค์หรือหน้าที่ของประโยคแต่ละประโยคหรือส่วนต่างๆ ของบทอ่าน แม้ว่าบางครั้งผู้เขียนจะไม่ได้กล่าวไว้โดยตรง
                     ชอนทซ์ (Schnotz, 1994, pp. 49–50) ได้กล่าวถึงความสามารถในการอ่านว่าประกอบด้วยความสามารถ ดังต่อไปนี้
                     1. ความสามารถในการปรับกระบวนการรู้และคิดตามเนื้อเรื่องที่อ่านและความต้องการที่คาดหวังไว้
                     2. ความสามารถในการอ่านเนื้อหาที่มีความหลากหลาย ซึ่งต้องการโครงสร้างความรู้ที่แตกต่างกันในการทำความเข้าใจ
                     3. ความสามารถในการแปลความได้ตามความรู้พื้นฐานของผู้อ่านแต่ละคน




                     จากความคิดเห็นดังกล่าวสรุปได้ว่า การอ่านให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัย ความรู้ทางภาษา ประสบการณ์และความรู้เดิม หรือความสามารถในการเชื่อมโยง การตีความตามความเข้าใจในเรื่องที่อ่านสรุปเป็นความคิดรวบยอดได้ ความสามารถในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อจะให้เข้าใจตรงกับผู้ส่งสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น