วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (5)

การสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี
               1.  แนวคิดหลักของทฤษฎี
                แนวคิดการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ เป็นแนวคิดที่เก่าแก่ที่สุดในทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (cognitive development theory) ของ เลฟ เซมโยโนวิช ไวก๊อตสกี้ (Lev Semyonovich Vygotsky) นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า “The Mozart of Psychology” (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 28; Solso, 1991, p.383)
                ทฤษฎีของไวก๊อตสกี้ มีนักจิตวิทยาบางท่านเรียกว่า ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม (Sociocultural Theory) (Berk, & Winsler, 1995, p.9; Eggen, & Kauchak, 1997, p.52) หรือทฤษฎีประวัติศาสตร์เชิงสังคม (Sociohistorical Theory) (Crain, 1992, p.193; Gredler, 1997, p.237)
โดยชื่อแรกเรียกตามลักษณะสำคัญของทฤษฎี ส่วนชื่อหลังเป็นคำที่ไวก๊อตสกี้เรียกทฤษฎีของตนเอง
(Henderson, & Cunningham, 1994, pp.255-256; Sutton, 1988, p.73) ในปัจจุบันทฤษฎีนี้เป็นแนวคิดพื้นฐานของนักจิตวิทยากลุ่มพัฒนาการทางสติปัญญา (constructivist) ร่วมกับทฤษฎีของเพียเจท์ (Piaget) และบรูเนอร์ (Bruner) ด้วย (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 28; Krogh, 1994, p.396; Spodek & Saracho, 1994, p.73)
                ไวก๊อตสกี้พัฒนาทฤษฎีของตนเองขึ้นบนพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้ระบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (classical conditioning) ของพาฟลอฟ (Pavlov) โดยอธิบายว่า พฤติกรรมมนุษย์คือ การตอบสนองที่มีต่อสิ่งเร้า หรือประสบการณ์ 5 ประเภทรวมกัน คือ 1) การตอบสนองตามกรรมพันธุ์ (inherited reactions) การกระตุกเมื่อถูกเคาะที่หัวเข่า 2) การตอบสองอันเป็นผลจากการวางเงื่อนไขที่บุคคลนั้นเคยได้รับ (conditional reactions) เช่น การน้ำลายไหลเมื่อได้ยินคำว่า มะม่วง 3) ประสบการณ์ที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม (historical experience) เช่น ลักษณะการแสดงความเคารพ 4) ประสบการณ์ที่บุคคลได้รับร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมเดียวกัน (social experience) เช่น การเข้าโรงเรียน 5) จิตสำนึก (consciousness) หรือประสบการณ์ที่
ปรุงแต่งขึ้นในจิตใจจากประสบการณ์จริงทั้งหลายที่มนุษย์ได้รับในชีวิต เช่น การพูดกับตัวเองในลักษณะการวางแผนในขณะที่กำลังคิดวิธีแก้ปัญหา (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 28-29; Vygotsky, 1997, pp.27-45)
                ไวก๊อตสกี้ตั้งใจจะพัฒนาทฤษฎีที่อธิบายจิตสำนึกของมนุษย์ โดยมีแนวคิดพื้นฐาน
ซึ่งเรียกว่า กฎพื้นฐานของพัฒนาการทางวัฒนธรรม
(a general genetic law of cultural development) ที่สรุปได้ว่า องค์ประกอบต่างๆ เช่น ความสนใจ ความจำ การสร้างมโนทัศน์และความปรารถนา ในพัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์แต่ละคน เป็นความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
ที่มีจุดเริ่มต้นจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันระหว่างสังคมต่างๆ ในปัจจุบัน ผ่านประสบการณ์ที่แต่ละคนต่างได้รับและร่วมมือกัน แล้วแปรสภาพเป็นคุณลักษณะของแต่ละบุคคลในที่สุด (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 29 ; Vygotsky, 1997, p.163)
                ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม (2542, หน้า 29) ได้กล่าวไว้ว่า ไวก๊อตสกี้จำแนกองค์ประกอบต่างๆ ของความคิดออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ
                1. องค์ประกอบของจิตใจตามมาตรฐานขั้นพื้นฐาน (lower natural mental functions) หมายถึง องค์ประกอบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบชีวิภาพ ที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนๆ กัน เช่น การรับรู้ ความจำ การใส่ใจ เป็นต้น
                2. องค์ประกอบของความคิดทางวัฒนธรรมขั้นสูง (higher cultural psychological functions) หมายถึง เครื่องมือทางจิตใจ (psychological tools) ต่างๆ ที่ได้มาจากวัฒนธรรม
ซึ่งถ่ายทอดมาสู่ตัวบุคคลโดยการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ที่มีเครื่องมือนี้แล้ว โดยมีลักษณะเป็นเครื่องหมายและสัญลักษณ์ หรือระบบเครื่องหมาย-สัญลักษณ์ เช่น ภาษา กิริยา ท่าทาง สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ เครื่องช่วยจำ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 29; Alkin, 1992, pp. 707-708; Berk, & Winsler, 1995, p.5; Hamilton, & Ghatala, 1994, p.257; Kozulin, 1996, p.103) โดยเฉพาะภาษาถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในจำนวนเครื่องมือทั้งหมด (tool of tools) อันนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันในเบื้องต้น (Reich College of Education, 2006, para.1) รวมถึงการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล (critical thinking) การคิดเชิงมโนทัศน์ (perspective thinking) และการกำกับตนเองในการเรียนรู้ (self-regulation) (Gredler, 1997, pp. 254-256)
                ไวก๊อตสกี้มีความเห็นว่าพัฒนาการของมนุษย์คือการทำงานของกระบวนการเสริมสร้างคุณลักษณะของตนเอง (internalization) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการต่างๆ ที่มนุษย์ใช้ใน
การเสริมสร้างองค์ประกอบของจิตใจทางวัฒนธรรมขั้นสูง จากการปรับกิจกรรมและกระบวนการภายนอกให้เป็นภายใน โดยมีกระบวนการย่อยที่สำคัญคือ การสร้างสื่อกลาง
(mediation) หมายถึง การที่ความคิดสร้างสื่อกลางขึ้นมาแทนสิ่งต่างๆ ที่ตนเองรับรู้ด้วยเครื่องมือของจิตใจ (psychological tools) เช่น ภาษา ที่ตนเองมีอยู่ในขณะที่รับรู้นั้น สื่อกลางที่สร้างขึ้นใหม่ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างองค์ประกอบของความคิดทางวัฒนธรรมขั้นสูงและกำกับความคิด ความรู้และพฤติกรรมของตนเอง
เหมือนเครื่องมือทางวัตถุ ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการทำงานทางกายของมนุษย์
(ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 29-30; Berk, & Winsler, 1995, unpaged; Hamilton, & Ghatala, 1994, pp.257-258)
                กระบวนการเสริมสร้างคุณลักษณะของตนเอง ประกอบด้วยสภาพ 3 ระยะ คือ
1) การปรับโครงสร้างของกิจกรรมภายนอกให้เริ่มเป็นกิจกรรมภายใน 2) การปรับกระบวนการระหว่างบุคคลให้เป็นกระบวนการภายในบุคคล 3) การปรากฏขึ้นขององค์ประกอบของความคิด
ทางวัฒนธรรมขั้นสูง จากการปรับสภาพดังกล่าว โดยในระยะยาวกระบวนการนี้จะแสดงผลออกมาเป็นคุณลักษณะของแต่ละบุคคลตามวัฒนธรรมของแต่ละสังคมในที่สุด (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 30
; Vygotsky, 1978, pp.56-57)
                ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม (2542, หน้า 30) ได้กล่าวไว้ว่า ไวก๊อตสกี้ (Vygotsky, 1962,
pp.52-81; 1997, pp.96-145) ได้ศึกษาการสร้างมโนทัศน์ (concept formation) ของมนุษย์และได้ใช้แนวคิดของกระบวนการเสริมสร้างคุณลักษณะของตนเอง และกระบวนการสร้างสื่ออกลาง
ในการอธิบายมโนทัศน์ของมนุษย์ไว้ว่า เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นจากการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบทั้งหลายของจิตใจ จากภาพรวมไปสู้รายละเอียด และจากรูปธรรมไปสู่นามธรรม
โดยแบ่งได้ 3 ขั้น คือ
                1. ขั้นสร้างชื่อมโนทัศน์ (unorganized congeries or heap) เป็นขั้นเริ่มต้นที่มนุษย์
ตั้งชื่อมโนทัศน์ขึ้นมาได้ แต่ยังไม่สามารถให้ความหมายหรือคำอธิบายเกี่ยวกับคุณลักษณะต่างๆ อย่างแน่นอนได้
                2. ขั้นเชื่อมโยงคุณลักษณะกับชื่อมโนทัศน์ (thinking in complex) เป็นขั้นที่มนุษย์เริ่มเชื่อมโยงคุณลักษณะต่างๆ จำนวนมากเข้ากับชื่อมโนทัศน์อย่างแน่ใจได้ แต่ยังไม่สามารถบอกถึงคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของมโนทัศน์นั้นได้ โดยมีลักษณะเด่น คือ คุณลักษณะที่เชื่อมโยงกับมโนทัศน์ในขั้นนี้ จะเป็นเฉพาะสิ่งที่สังเกตได้ด้วยประสาททั้ง 5 เช่น สี ขนาด น้ำหนัก รูปร่าง เท่านั้น
                3. ขั้นมโนทัศน์ที่สมบูรณ์ (potential concept) เป็นขั้นที่มนุษย์สร้างมโนทัศน์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยการประเมินค่าคุณลักษณะต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชื่อมโนทัศน์ แล้วตัดสินได้ว่า คุณลักษณะกลุ่มใดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่จะขาดไม่ได้ของมโนทัศน์ นั่นคือ สามารถให้ความหมายหรืออธิบายเกี่ยวกับคุณลักษณะที่แท้จริงของมโนทัศน์นั้น และแยกมโนทัศน์ๆ ที่คล้ายคลึงกันได้
                ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม (2542, หน้า 30-31) ได้สรุปว่า ทฤษฎีของไวก๊อตสกี้ อธิบายพัฒนาการทางสติปัญญา โดยมุ่งเน้นที่จิตสำนึกของมนุษย์ ว่าพัฒนาการทางสิตปัญญา
เป็นคุณลักษณะที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอก
โดยมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญกับองค์ประกอบภายในทั้งชีวภาพและจิตใจ โดยมีเครื่องมือของจิตใจเป็นส่วนสำคัญ

                อาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีของไวก๊อตสกี้เน้นการเชื่อมโยงจากภายนอกและภายใน โดยมีภาษาที่ใช้ในสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ช่วยให้พัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์เกิดขึ้นภายใต้จิตสำนึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น