วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (7)

4.  พัฒนาการทางภาษา
                ไวก๊อตสกี้ได้กล่าวถึงความสำคัญของภาษาไว้ว่า ภาษาเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นจริงของสิ่งที่รับรู้ ภาษาเป็นกุญแจสู่ธรรมชาติแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ถ้อยคำเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงใน
การพัฒนาความคิดเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในการพัฒนาของจิตสำนึกทั้งปวงด้วย คำๆหนึ่งเป็นเสมือนดาวดวงหนึ่งๆ ในจักรวาลแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 31
; Vygotsky, 1962, p.153)
                ไวก๊อตสกี้กล่าวถึงคุณลักษณะของภาษาไว้ว่า ภาษาเป็นสิ่งที่สังคมถ่ายทอดให้เป็นพื้นฐานของคุณภาพในการคิด และเป็นส่งิที่มีความสำคัญยิ่งในพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 31; Ebbeck, & Ebbeck, 1996, p.60; Wadsworth, 1996, p.11)
                แฮมิลตันและเกตตาลา (Hamilton, & Ghatala, 1994, pp.259-263) ได้อธิบายขั้นตอนของพัฒนาการทางภาษาตามแนวคิดของไวก๊อตสกี้ไว้ว่า ความคิดและภาษาเป็นสิ่งที่มีรากฐานต่างกันเป็นอิสระจากกัน แต่เด็กจะค่อยๆ เชื่อมโยงและพัฒนาทั้งความคิดและภาษาไปพร้อมๆ กัน
จากขั้นต้นที่ภาษาเป็นเพียงการเปล่งเสียง และความคิดเป็นเพียงความรู้สึกในใจ จนถึงขั้นสูงที่ความคิดแสดงออกเป็นถ้อยคำ และภาษาแสดงถึงความเป็นเหตุผล โดยภาษาจะมีหน้าที่ช่วยจัดระเบียบความคิด พัฒนาการดังกล่าวแบ่งได้ 4 ขั้น (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 31) คือ
                1. ขั้นเริ่มต้นหรือขั้นตามธรรมชาติ (primitive or natural stage) ขั้นนี้จะเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 2 ขวบ เด็กจะเปล่งเสียงเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกตนเอง ตามความรู้สึกของตน ในช่วงท้ายของขั้นนี้ เด็กจะเริ่มพูดเป็นคำๆ ได้ ถ้าได้รับการกระตุ้นจากผู้ใหญ่
                2. ขั้นไร้เดียงสา (naïve psychology stage) ขั้นนี้จะเริ่มประมาณ 2 ขวบถึง 4 ขวบ เด็กจะเริ่มตระหนักในลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัวเอง จะใช้คำพูดเพื่อเรียกชื่อต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ทางภาษาได้ แต่ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงทั้งหมดของคำพูดเหล่านั้น
                3. ขั้นสัญญาณภายนอก (external sign state) ขั้นนี้จะเริ่มประมาณ 4 ขวบถึง 7 ขวบ เด็กจะสามารถใช้สัญลักษณ์แทนความจริง เช่น ภาษาเป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาในจิตใจ โดยแสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น นับนิ้วเพื่อช่วยบวกเลข พูดสอนตัวเองเวลาทำงาน เป็นต้น ขั้นนี้สอดคล้องกับขั้นการพูดแบบตนเองเป็นศูนย์กลาง (egocentric speech) ตามแนวคิดของ
เพียเจท์
(Piaget)
                4.  ขั้นเติบโตภายใน (ingrowth stage) ช่วงนี้จะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 7 ขวบเป็นต้นไป ในขั้นนี้การแสดงออกถึงการใช้ภาษาและสัญลักษณ์อย่างเห็นได้ชัดจะลดลงไป เด็กจะใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการคิด และการแก้ปัญหา ในลักษณะที่เป็นกระบวนการภายในจิตใจ ไวก๊อตสกี้ไม่เห็นด้วยกับเพียเจท์ (Piaget) ที่ว่า การพูดแบบตนเองเป็นศูนย์กลางจะหลบไปเกิดขึ้นในใจ เป็นการพูดในใจ (inner speech) ซึ่งเป็นการใช้คำพูดและสัญลักษณ์ต่างๆ ในใจเป็นเครื่องช่วยในการแก้ปัญหาและควบคุมการทำงานขอตนเองต่อไป
                ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม (2542, หน้า 32) ได้สรุปว่า พัฒนาการทางภาษาตามแนวคิดของ
ไวก๊อตสกี้จะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับภาษาซึ่งเริ่มต้นจากในวัยทารก ซึ่งเป็นวัยที่ความคิดและภาษาเป็นอิสระจากกัน แต่เด็กจะค่อยๆ เชื่อมโยงทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกันและพัฒนาทั้งสองสิ่งไปพร้อมๆ กัน จนความคิดส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะของภาษาและภาษาส่วนใหญ่จะแสดงถึงความคิด
                อาจกล่าวได้ว่า ไวก๊อตสกี้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับภาษา เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางภาษา ตั้งแต่แรกเกิด แสดงให้เห็นว่าภาษาแสดงให้เห็นความคิดของแต่ละบุคคล
และเมื่อคิดก็จะต้องการแสดงความคิดด้วยภาษาเพื่อการสื่อสารนั่นเอง
                เบนสัน (Benson, 1995, unpaged) ได้อธิบายแนวคิดของไวก๊อตสกี้ว่า มองพัฒนาการของความคิดและภาษาเป็นอิสระจากกัน และต่างก็ได้รับอิทธิพลจากกระบวนการสร้างมโนทัศน์
ซึ่งขึ้นกับสภาพของพัฒนาการของผู้นั้น การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการ แต่พัฒนาการไม่ได้ขึ้นกับการเรียนรู้
                ไวก๊อตสกี้กล่าวถึงปรากฏการณ์การพูดกับตนเอง (private speech) ของเด็กว่า เป็นวิธีที่เด็กใช้เพื่อกำกับความคิด และการกระทำของตนเอง (ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม, 2542, หน้า 32;  Berk, & Winsler, 1995, pp.34-37; Woolfolk, 1995, p.49)
                ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม (2542, หน้า 32) ได้สรุปว่า พัฒนาการทางภาษานั้นเป็นธรรมชาติซึ่งเกิดจากกรอบแนวคิดด้านมโนทัศน์ตามที่ไวก๊อตสกี้ได้ศึกษามา และภาษาถือเป็นเครื่องมือที่บุคคลทั่วไปใช้กันในการติดต่อสื่อสารและทำความเข้าใจกัน

                กล่าวคือ ภาษาคือเครื่องมือช่วยสื่อสารชนิดหนึ่ง ถือเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจำนวนเครื่องมือทั้งหลาย (tool of tools) (Reich College of Education, 2006, para. 5) เพื่อที่จะทำความตกลงเข้าใจกัน ให้ความเห็นตรงกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น