วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสาร (15)

6.2  องค์ประกอบที่ควรคำนึงถึงในการสอนอ่าน
                     สุจริต เพียรชอบและสายใจ อินทรัมพรรษ์ (2536, หน้า 48) ได้กล่าวถึงหลักสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการสอนอ่าน ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
                     1. ความพร้อมของนักเรียน เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีสภาพแวดล้อมทางบ้านที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนมีความสามารถทางการอ่านที่แตกต่างกัน ดังนั้นครูจึงควรทดสอบความพร้อมในการอ่านของนักเรียน เพื่อจะได้สอนให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคน
                     2. ความแตกต่างระหว่างบุคคล สภาพร่างกาย สติปัญญา แม้ว่าจะอยู่ในวัยเดียวกัน ระดับเดียวกัน ก็จะมีความสามารถในการอ่านแตกต่างกัน
                     3. ความสนใจของนักเรียนที่มีต่อการอ่าน นักเรียนที่ต่างวัยกัน ความสนใจในการอ่านจะแตกต่างกัน ผู้สอนควรชี้แนะให้นักเรียนเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่านและส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน
                     4. สายตากับการอ่านเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยให้การอ่านมีประสิทธิภาพ นักเรียนที่อ่านเร็วจะมีช่วงสายตากว้างว่านักเรียนที่อ่านช้า ซึ่งมีช่วงสายตาแคบ
                     5. ลักษณะนิสัยการอ่าน เช่น การอ่านย้อนหลัง การอ่านแบบข้าม ท่านั่ง
การจับหนังสือ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผู้สอนต้องฝึกฝนให้นักเรียนมีลักษณะนิสัยที่ดีในการอ่าน
                          บรรลือ พฤกษะวัน (2538, หน้า 27) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบแห่งความพร้อมที่ผู้สอนควรคำนึงถึงในการสอนอ่านไว้ 5 ด้าน ดังนี้
                     1. ความพร้อมทางร่างกาย ได้แก่ รูปร่าง ขนาด ส่วนสูง น้ำหนัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญเติบโตของร่างกาย โดยที่กรมอนามัยโรงเรียน กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเกณฑ์เฉลี่ยไว้ นอกจากนี้ยังเน้นการใช้สายตา หู ความคล่องแคล่วในการใช้กล้ามเนื้อ มีการทรงตัว มีความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ที่จับประคองมือลากเส้นเขียนตัวอักษรและอื่นๆ
                     2. ความพร้อมทางสมอง ได้แก่ ความสามารถในการจำ การตีความและแปลความ การอธิบายงานที่ทำ การเล่าเรื่องราวของตนและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
                     3. ความพร้อมทางอารมณ์และสังคม ได้แก่ การมีอารมณ์ร่วมสนุกสนาน การรู้จักระงับอารมณ์ เล่นรวมกับเพื่อน ไม่แย่งของเพื่อน รู้จักให้หยิบยื่นหรือแบ่งปันของใช้ ช่วยเหลือเพื่อน และอื่นๆ
                     4. ความพร้อมทางจิตวิทยา ได้แก่ การมีสมาธิในการฟังนิทานหรือเรื่องราวมีความมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออก นำกลุ่ม รู้จักลำดับเหตุการณ์ในนิทาน และอื่นๆ
                     5. ความพร้อมทางพื้นฐานประสบการณ์ ได้แก่ การใช้ภาษาพูด การตอบคำถาม การมีความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมใกล้ตัวและอื่นๆ เป็นต้น
                     แฮริส, และชิเพย์ (Harris, & Sipay, 1979, pp.141–142) กล่าวว่า ในการสอนอ่านนั้น ผู้สอนควรยึดหลักของการสอนอ่าน ดังนี้
                     1. การสอนอ่านต้องเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน
                     2. การสอนต้องเป็นระบบ
                     ดังนั้นในการสอนอ่านให้กับนักเรียนผู้สอนควรคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่มีผลต่อการสอนอ่านและการอ่านของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้สอนควรทำความเข้าใจกับนักเรียนแต่ละคนและคำนึงถึงเรื่องความแตกต่าง เพื่อจะได้นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านการอ่านให้กับนักเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านการอ่านของนักเรียน และส่งผลต่อประสิทธิภาพทางด้านการอ่านของนักเรียนอีกด้วย
                    6.3 การเรียนการสอนความสามารถในการอ่านที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
                          การเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้น หน้าที่และบทบาทของครูจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิมนั่นคือ ครูผู้สอนจะมีหน้าที่จัดเตรียมกิจกรรมต่างๆ ในการเรียนไว้ล่วงหน้า
ทำเครื่องมืออุปกรณ์การสอนให้ชัดเจน ให้คำแนะนำเมื่อผู้เรียนมีปัญหาและวางแผนให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองหรืออาจจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “ครูที่ดีคือผู้ให้คำแนะนำที่ดี”

(a good director) ไม่ใช่ครูผู้สอนแสดงหรือควรทำกิจกรรมเสียเอง ผู้สอนจะต้องหาทางสร้างประสบการณ์ให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน ผู้เรียนจึงเป็นผู้ทำกิจกรรมและหากจะวัดความสำเร็จของผู้เรียนก็วัดไว้จากการกระทำนั่นเองและได้มีนักการศึกษาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนทักษะการอ่านที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไว้ ดังนี้
                     สเตวิค (Stevick, 1980, p. 197) ซึ่งกล่าวว่าการเรียนทุกอย่างควรให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสัมผัสด้วยตัวเองแล้วจะทำให้ ผลการเรียนของผู้เรียนบรรลุเป้าหมายดีขึ้น วิธีการหนึ่งนั้นคือ ผู้สอนต้องพูดน้อย และในการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้นที่สำคัญคือ บรรยากาศในห้องเรียนต้องทำให้ผู้เรียนมีความมั่นใจและกล้าใช้ภาษา ซึ่งครูจะต้องพยายามสร้างให้เกิดขึ้นโดยคอยเป็นที่ปรึกษาให้กำลังใจให้ความอบอุ่น อันจะก่อให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจอย่างดี จะทำให้เห็นภาพพจน์ของการเรียนได้อย่างชัดเจนขึ้น และย่อมจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางภาษาไปในทางที่ดีขึ้น
                     เนลสัน (Nelson, 1984, pp. 2–5, 8) ได้แสดงความคิดเห็นและแนวทางใน
การสอนอ่านโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไว้ว่า ควรจะให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกบทเรียนแล้วให้เวลาและโอกาสแก่ผู้เรียนที่จะได้อ่านและทำความเข้าใจบทเรียนนั้นๆ ด้วยตัวของเขาเองจะโดยวิธีใดก็ได้ แล้วนำสิ่งที่ผู้เรียนแต่ละคนได้จากการอ่านมาอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน
                     กล่าวโดยสรุป ในการจัดการเรียนการสอนโดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้นควรมีลักษณะใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
                     1. จัดการเรียนการสอนให้อยู่ในลักษณะกลุ่ม

         2. ใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดการสนทนาและให้ค้นพบด้วยตนเอง และทำการแก้ไขข้อบกพร่องด้วยตนเองหรือให้เพื่อช่วยเพื่อด้วยกัน และให้นักเรียนเรียนด้วยตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น