วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสาร (16)

7.  วิธีการอ่านเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ
                    ในการสอนภาษาอังกฤษเราไม่อาจกล่าวได้ว่าวิธีสอนแบบใดเป็นวิธีสอนที่ดีที่สุด
วิธีสอนแบบต่างๆ ได้รับการพัฒนามาเป็นรูปแบบการสอนที่แตกต่างกัน โดยมีแนวคิดทางภาษาศาสตร์ ทางจิตวิทยา ทางการศึกษาตลอดจนจุดมุ่งหมายทางการเรียนภาษาที่แตกต่าง ทักษะเหล่านี้ในการอ่านภาษาอังกฤษ  ซึ่งมีนักการศึกษากล่าวไว้ดังนี้
                สุมิตรา อังวัฒนกุล (2540, หน้า 151 – 152) ได้เสนอแนะวิธีสอนที่จะช่วยให้เกิดสามารถในการอ่านไว้ ดังต่อไปนี้
                1. ส่งเสริมนักเรียนให้มีการเพิ่มพูนคำศัพท์อยู่ตลอดเวลาและฝึกให้นักเรียนได้ลอง เดาความหมายของคำศัพท์ใหม่
                2. ช่วยให้นักเรียนเข้าใจโครงสร้างหรือรูปแบบประโยค
                3. ช่วยให้นักเรียนเข้าใจวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา
                4. ใช้คำถามเป็นเครื่องมือช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อความที่อ่านยิ่งขึ้น
                5. ช่วยฝึกให้นักเรียนสามารถอ่านเร็วและรู้จักปรับอัตราความเร็วในการอ่าน
                ณิชาภัทร วัฒนาพาณิช (2543, หน้า 14–16) ได้กล่าวถึงการอ่านเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษ ควรใช้วิธีการดังนี้
                1. อ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะอ่านได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ วารสาร เรื่องสั้น หนังสือพิมพ์ บทอ่านทุกประเภทที่ผู้อ่านชอบ เพราะยิ่งอ่านมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้การอ่านดีขึ้นเท่านั้นและควรจัดเวลาสำหรับการอ่านทุกวัน
                2. อ่านโดยใช้ทักษะการอ่าน ดังนี้
                   2.1 ให้นักเรียนศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทอ่านก่อนการอ่าน จากนั้นให้นักเรียนคิด เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านซึ่งเมื่อทำการอ่านนักเรียนจะพบว่าตนอ่านได้เร็วขึ้น และเข้าใจเรื่องมากขึ้น
                   2.2 ถามคำถามในขณะทำการอ่าน ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะทำให้นักเรียนไม่ละ
ความสนใจไปจากเรื่องที่ที่อ่าน และยังจะช่วยให้จำสิ่งที่อ่านได้ดีขึ้น
                   2.3 เดาความหมายของคำศัพท์ใหม่ ถ้านักเรียนต้องหาความหมายของศัพท์ใหม่ทุกคนจะทำให้ใช้เวลาในการอ่านและในการหยุดอ่านเพื่อหาคำศัพท์ อาจทำให้ลืมเรื่องที่อ่านได้ ผู้สอนควรแนะนำให้นักเรียนเดาความหมายจากประโยคหรือจากข้อความในย่อหน้านั้นๆ
                   2.4 หาหัวเรื่องหรือใจความหลักเพราะหัวเรื่องและใจความหลักจะบอกให้รู้ว่า อะไรสำคัญในแต่ละบทอ่าน ซึ่งในการหาหัวเรื่องและใจความหลักให้ตอบคำถาม 2 ข้อ ที่ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรและผู้เขียนต้องการจะบอกอะไร
                   2.5 มีความเข้าใจโครงสร้างภาษาอังกฤษ โครงสร้างทางภาษาเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องที่อ่านยิ่งขึ้นและช่วยในการจำ
                3. อ่านอย่างเร็ว การอ่านเร็วจะช่วยให้กระบวนการทางสมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะในขณะที่อ่านช้า สมองจะไม่สามารถรับข้อมูลได้ดี การอ่านเร็วจะทำให้เข้าใจ เรื่องที่อ่านได้
                4. ฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษในการเรียนการอ่านภาษาอังกฤษ นอกจากนักเรียนต้องทำความเข้าใจเรื่องที่อ่าน นักเรียนต้องทำความเข้าใจภาษาอังกฤษด้วยในขณะที่อ่าน ครูต้องแนะนำวิธีการหาความหมายของประโยคและหาวิธีการคิดที่จะตามมาจากการอ่านภาษาอังกฤษแต่ละประโยค
                5. การอ่านอย่างเฉพาะเจาะจง มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาคำตอบเฉพาะ โดยผู้อ่านมี จุดประสงค์แน่นอน การอ่านแบบนี้จัดได้ว่าเป็นการอ่านที่เร็วที่สุด เช่น ในการหารายชื่อจากสมุดโทรศัพท์ การอ่านสารบัญ เป็นต้น
                6. การเดาความหมายของคำศัพท์ นักเรียนไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายของคำศัพท์ ทุกคนแต่สามารถเดาควาหมายได้โดยอาศัย บริบทและประสบการณ์เดิมของผู้อ่าน
                นอกจากนี้เกบฮาร์ด (Gebhard, 1985, pp.1 –20) ได้เสนอหลักในการสอนอ่านสำหรับผู้สอนที่สอนภาษาอังกฤษเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้นได้ ดังนี้
                1. การฝึกฝนการอ่านสามารถช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้ที่จะอ่านได้ เพราะยิ่งผู้เรียนใช้เวลาในการอ่านเท่าไรก็ยิ่งเป็นผู้อ่านที่ดีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้สอนต้องพูดให้น้อยลงและให้นักเรียนได้อ่านมากขึ้นในชั่วโมงที่สอน นอกจากนี้ครูอาจใช้วิธีทำเอกสารประกอบการอ่านเพื่ออธิบายคำศำท์หรือโครงสร้างยากๆ โดยครูไม่ต้องเสียเวลาอธิบาย แต่ให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเองจากเอกสาร
                2. บทอ่านที่มีความหมายต่อผู้เรียนจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การอ่านได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งบทอ่านที่อยู่ในความสนใจของผู้เรียนย่อมมีผลให้การเรียนประสบผลสำเร็จมากกว่า ผู้สอนอาจสอบถามความสนใจจากผู้เรียนแล้วจัดทำเป็นมุมการอ่าน เป็นต้น
                3. ความซ้ำซ้อนของภาษาช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้การอ่านได้ โดยความซ้ำซ้อนจากการใช้ประโยคหรือคำที่มีความหมายคล้ายกัน ในข้อความที่อ่าน บางครั้งอาจเป็นคำตรงกันข้ามหรือการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ผู้สอนควรชี้ให้เห็นว่าผู้เรียนอาจเดาความหมายจากคำหรือประโยคจากตัวแนะต่างๆ ที่ปรากฏในข้อความ
                4. การเสริมข้อมูลเพิ่มเติมช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการอ่านได้ เนื่องจากความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคนต่างกัน ผู้สอนจึงควรให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน เพื่อให้ผู้เรียนอ่านเรื่องนั้นด้วยความเข้าใจดียิ่งขึ้น
                5. การอ่านเป็นกลุ่มคำช่วยให้การจับใจความดีขึ้น การอ่านเพื่อความเข้าใจไม่ควรเป็นการอ่านแบบคำต่อคำหรือรู้ความหมายทุกคำ แต่ควรอ่านเป็นกลุ่มคำเพื่อจับใจความได้ดีขึ้น ผู้สอนอาจช่วยเหลือในตอนแรกโดยการแบ่งคำเป็นกลุ่มๆ ให้อ่าน ฝึกให้ผู้เรียนแบ่งคำเป็นกลุ่มเองจากกลุ่มคำสั้นๆ แล้วขยายให้ยาวขึ้นหรืออาจใช้เนื้อเพลงหรือบทละครสั้นๆ ช่วยในการฝึกอ่านจับใจความ
                6. สื่อการสอนช่วยเพิ่มความเข้าใจในการอ่านแก่ผู้เรียน การใช้รูปภาพ ของจริง เครื่องมือต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้เรี่ยนเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดีขึ้น และช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนที่ดี
                7. บรรยากาศในการเรียนการสอนควรเป็นไปอย่างสบายไม่เคร่งเครียด การจัดให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่มและทำความเข้าใจในเรื่องที่อ่านกันเอง โดยมีผู้สอนคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้เรียนต้องการจะทำให้บรรยากาศในการเรียนไม่เคร่งเครียเ และเกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น
                ไพรซ์ (Price, 1997, pp. 5–11) ได้กล่าวถึงการเดาความหมายจาก ตัวบ่งชี้ในบริบท
ไว้ดังนี้
                1. คำจำกัดความ
                2. คำตรงกันข้าม
                3. ตัวอย่างหรือรายละเอียด
                4. ความรู้หรือประสบการณ์
                5. ตัวบ่งชี้ในไวยากรณ์
                6. เครื่องหมายวรรคตอน
                7. พจนานุกรม หรือการแปลเป็นวิธีที่นักเรียนมักจะนำมาใช้เสมอในการอ่านแต่ไม่ใช่วิธีการที่ควรใช้ในการเรียนภาษา เพราะจะทำให้ลืมเร็วและน่าเบื่อ
                8. ใจความสำคัญ ถ้านักเรียนเข้าใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้า จะทำให้อ่านเร็วและเข้าใจเรื่องที่อ่านง่ายขึ้น
                9. การหาโครงสร้างของบทอ่าน รูปแบบของโครงสร้างของเนื้อความในแต่ละบท อาจมีความแตกต่างกันไป ในการอ่านให้พยายามหารูปแบบของแต่ละบทอ่าน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้น ซึ่งบทอ่านภาษาอังกฤษมีโครงสร้างหลายรูปแบบ
                10. การใช้คำอ้างอิง บางครั้งผู้เขียนไม่นิยมใช้คำเดิมซ้ำหลายครั้งแต่จะใช้คำอื่น ที่มีความหมายใกล้เคียงแทนหรืออาจใช้คำสรรพนามแทนคำนาม เพราะเป็นคำที่สั้นกว่าแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจ ในขณะที่อ่านเรื่อง ถ้านักเรียนให้ความสนใจกับคำสรรพนามจะทำให้เข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้น

                การสอนอ่านให้มีประสิทธิภาพนอกจากการอ่านเร็วและการเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้ว บางครั้งผู้เขียนไม่ได้สื่อความหมายออกมาตรงๆ แต่มีความนัยซ่อนอยู่ในข้อเขียน ผู้สอนควรแนะนำวิธีการเดาความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวบ่งชี้ ที่ปรากฏอยู่ในบริบท
8.  เกณฑ์การประเมินความสามารถในการอ่าน
                อัจฉรา วงศ์โสธร (2539, หน้า 154-157) กำหนดความสามารถทางการอ่านแบบรวม ดังนี้
                1. ความสามารถเรียบเรียงความ ได้แก่ การอ่านแล้วเข้าใจความได้ สามารถแสดงความเข้าใจ โดยการตอบคำถามที่ให้เรียบเรียงถ้อยคำใหม่ โดยให้ได้ใจความเดิม หรือสามารถตอบคำถามแบบเลือกตอบและแบบเรียงลำดับข้อความเป็น 1, 2, 3 .. ได้
                2. ความสามารถอ่านข้อมูลที่เป็นรายละเอียดสามารถโยงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับใจความสำคัญของเรื่องได้ว่า เป็นรายละเอียดสนับสนุนหรือเป็นรายละเอียดที่แย้งกัน เพื่อให้ข้อมูลตรงกันข้าม ตลอดทั้งเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรายละเอียดด้วยกัน
                3. ความสามารถอ่านจับใจความสำคัญ สามารถระบุแก่นเรื่อง หัวเรื่อง และใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้
                4. ความสามารถวิเคราะห์และประเมินความสัมพันธ์ของเนื้อความและสุนทรียศาสตร์ของการใช้ภาษา สามารถใช้ความรู้ด้านคำศัพท์ ไวยากรณ์ ความเข้าใจสิ่งที่อ่านและความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ ภาษาที่ใช้ในบทอ่านที่เป็นตัวกระตุ้น วิเคราะห์ ประเมินและสรุปได้ว่า สารที่อ่านนั้นเป็นสารประเภทใด ภาษาที่ใช้เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เจตนา ทัศนคติของผู้เขียน ที่แฝงอยู่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุและผลที่เกิดขึ้น ต่อมาความมั่นคง น่าเชื่อถือ ของสมมุติฐานที่ผู้เขียนตั้งไว้ ความเป็นไปได้ของข้อสรุป ตลอดจนสามารถประเมินประสิทธิผลของบทอ่านนั้นได้ว่ามีความชัดเจนเข้าสู่ประเด็นอย่างตรงไปตรงมา และใช้ภาษาได้อย่างกระชับ ความสามารถในระดับนี้เป็นระดับสูง ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในระดับต้นๆ เป็นพื้นฐาน
                การกำหนดระดับความสามารถข้างต้นเป็นระดับขั้นตอน ที่ขึ้นต่อกัน การกำหนดความสามารถตามเกณฑ์อาจใช้มาตราส่วนประเมินค่าเป็นระดับ ดังนี้
                ระดับ  1    หมายถึง    ไม่มีความสามารถ
                ระดับ 2    หมายถึง    มีความสามารถน้อย
                ระดับ 3    หมายถึง    มีความสามารถพอประมาณ
                ระดับ  4    หมายถึง    มีความสามารถมาก
                ระดับ  5    หมายถึง    มีความสามารถยอดเยี่ยม  เป็นต้น

                ในการประเมินผลการอ่านภาษาอังกฤษ ส่วนมากนิยมใช้แบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ เนื่องจากแบบทดสอบชนิดนี้มีข้อดี และมีความเหมาะสมในการประเมินผลการอ่านคือ
มีความเป็นปรนัยและสะดวกรวดเร็วในการตรวจให้คะแนน ซึ่งสอดคล้องกับ แมดเซน
(Madsen, 1983, pp. 89-97) ได้กล่าวว่าข้อดีของแบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบเป็นวิธีการทดสอบแบบบูรณาการ คือมีความเป็นปรนัย และความสะดวกในการตรวจให้คะแนน และสามารถใช้ทดสอบกับผู้เรียนทุกระดับได้อย่างเหมาะสม แต่การสร้างแบบทดสอบแบบปรนัยให้มีคุณภาพนั้นกระทำได้ยาก เนื่องจากในการสร้างแบบทดสอบทั้งคำถามและตัวเลือกต้องใช้เวลามาก ซึ่งแบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ มุ่งประเมินความสามารถในด้านต่างๆ ดังนี้
                1. โครงสร้างประโยค การประเมินผลในระดับตีความประโยคหรือวลีที่มีโครงสร้างแตกต่างจากประโยคที่กำหนดให้ แต่ยังคงรักษาเนื้อหาและความหมายเดิมไว้
                2. ใจความสำคัญและรายละเอียดของเรื่องที่อ่าน
                3. ใจความของเรื่องที่ปรากฏโดยนัย กล่าวคือ ไม่ปรากฏโดยตรงในเนื้อเรื่องที่อ่าน แต่ผู้อ่านจะต้องตีความหมายให้ถูกต้องตามที่ผู้เขียนได้เขียนไว้
                อรวรรณ น้อยมุข (2544, หน้า 29-30) ได้กล่าวถึงกรประเมินผลการอ่าน โดยกล่าวว่า ในการสอนอ่านนอกจากผู้สอนจะต้องรู้จักเลือกใช้เทคนิคการสอน ที่จะช่วยกระตุ้นความสามารถในการอ่านของผู้เรียนแล้วผู้สอนจำเป็นต้องรู้จักเลือกเทคนิคการประเมินผลความสามารถในการอ่านของผู้เรียนด้วย
                เพื่อให้การอ่านของผู้เรียนมีประสิทธิภาพ ครูผู้สอนจำเป็นต้องมีการวัดผลและประเมินผลความรู้ ความสามารถของเด็กว่ามีความก้าวหน้าในการอ่านเพียงใด และมีการวัดผลอยู่ตลอดเวลา การวัดและประเมินผลการอ่านจึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะเหตุผลดังนี้
                1. จะช่วยให้ผู้เรียนทราบความสามารถในการอ่านของผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง
                2. ช่วยให้ผู้มีความสนใจใสการอ่านเพิ่มมากขึ้น
                3. จะช่วยให้ผู้สอนแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามระดับความสามารถได้
                4. จะช่วยประเมินผลการสอนของผู้สอนด้วยว่ามีความสามารถในการสอนเพียงใด
                5. ช่วยให้สามารถวินิจฉัย และทำนายผลเกี่ยวกับการสอนได้
                การประเมินผลการอ่าน หมายถึง การพิจารณาตัดสินใจว่าผู้เรียนมีทักษะหรือความสามารถในการอ่านมากน้อยเพียงใด
                ในการประเมินผลทักษะการอ่านควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
                1. เน้นการประเมินเพื่อปรับปรุงการอ่าน
                2. ประเมินผลการอ่านโดยคำนึงถึงประสบการณ์และลักษณะของผู้เรียน
                3. ประเมินผลการอ่านอย่างเป็นระบบที่ผสมผสานกับการสอน
                4. การประเมินผลการอ่านต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
                5. ประเมินให้รอบด้านทั้งพุทธพิสัย ด้านเจตคติ และด้านทักษะพิสัย
                6. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการประเมิน
                7. บอกเกณฑ์การประเมินและแนวทางปฏิบัติ
                8. ควรจะมีการประเมินผลก่อนและหลังการอ่านเพื่อทราบพัฒนาการ
                ดังนั้น จากแนวคิดเกี่ยวกับความสามารถการอ่านและองค์ประกอบของความสามารถในการอ่าน การประเมินการอ่าน จึงพอสรุปว่าความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษ หมายถึง ผลสัมฤทธิ์ในการอ่านภาษาอังกฤษจากแบบทดสอบที่มีคุณภาพ โดยประกอบด้วย ความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูล ความสามารถในด้านจับใจความและรายละเอียดของเรื่องความสามารถในการเรียงลำดับเหตุการณ์ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ข้อความ คือ ความสามารถในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านได้ โดยทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
                นอกจากนี้  ฟีนอคคิเอโร, และบรัมฟีท (Finocchiaro, & Brumfit, 1983, pp. 131–135) ได้เสนอแนะว่า แบบทดสอบที่ใช้ในการประเมินผลการอ่านภาษาอังกฤษที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปมี
2 แบบ ดังนี้
                1. แบบทดสอบแบบอัตนัย (subjective test) ได้แก่ แบบทดสอบความเรียงโดยให้ผู้เรียนตอบคำถามจากเรื่องที่อ่านโดยเขียนคำตอบเป็นประโยคหรือข้อความยาวๆ
             2. แบบทดสอบประนัย (objective test) ได้แก่ แบบทดสอบแบบเลือกตอบ
แบบถูกผิด แบบจับคู่ แบบเติมคำ เป็นต้น
                เออร์วิน (Irwin, 1991, p.169) ได้ให้คำแนะนำในการวัดและประเมินผลไว้ว่า
                1. คำสั่งและคำถามต้องมีความชัดเจน
                2. ภาระงานที่ใช้ในการวัดผล ต้องตรงกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
                สรุป การประเมินผลความสามารในการอ่าน หมายถึง การพิจารณาตัดสินใจว่า ผู้เรียนมีทักษะหรือความสามารถในการอ่านมากน้อยเพียงใดซึ่งมีประโยชน์คือ ทำให้ครูผู้สอนได้ทราบความก้าวหน้าในการอ่านของผู้เรียน และในการประเมินผลการอ่านนั้นสามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ข้อทดสอบ การใช้การสังเกต การซักถาม หรือสัมภาษณ์และการใช้การบันทึกเพื่อดูความสนใจในการอ่าน เป็นต้น การประเมินผลการอ่านนั้น ควรจะกระทำทั้งก่อนและหลังการอ่าน เพื่อทราบถึงพัฒนาการที่แท้จริงของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนได้ทราบถึงพัฒนาการทาง
ด้านการอ่านของนักเรียนแต่ละคน และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน และ
การประเมินผลครั้งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น