วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสาร (14)

6.  การสอนอ่าน
                ปัจจุบันทักษะการอ่านเป็นทักษะที่มีบทบาทและมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันมากเพิ่มมากขึ้น นักเรียน นักศึกษา จำเป็นต้องใช้ทักษะการอ่าน เพื่อการศึกษาหาความรู้วิทยาการแขนงต่างๆ แม้เมื่อจบการศึกษาแล้วการอ่านก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันต่อไป ดังนั้น
การสอนอ่านจึงจำเป็นต้องปูพื้นฐานที่ดีและถูกต้อง เพื่อพอที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                วิธีการอ่านที่จะทำให้ได้ผลดีที่สุด คือ ผู้อ่านจะต้องมีความเข้าใจเรื่องที่อ่านและมีความสามารถในการอ่านเร็ว ดังที่ ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล (2537, หน้า 54) กล่าวไว้ว่า ผู้อ่านทั้งหลายปรารถนาจะมีความสามารถ ดังนี้
                1. อ่านได้เร็ว
                2. เข้าใจทุกเรื่องที่อ่าน
                3. ใช้เวลาอ่านน้อยแต่ได้ประโยชน์จากการอ่านมาก
                4. มีเวลามากพอที่จะอ่านได้ตามต้องการ
                5. อ่านแล้วจำได้มากที่สุด
                6. นำความรู้ความคิดและสาระไปใช้ได้ดีและมากที่สุด
                ความสามารถทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้อ่านแต่ละคนจะมีไม่ครบถ้วนแต่อาจเรียนรู้ได้หากได้รับการฝึกที่ถูกต้องนั่นคือ ฝึกอ่านเพื่อจับใจความสำคัญ และเมื่อผู้อ่านสามารถ
จับใจความสำคัญเป็นแล้วต่อไปก็จะสามารถอ่านได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาอ่านสิ่งที่ไม่สำคัญหรือส่วนที่ไม่ต้องการในการอ่านอีกต่อไป
                สุพิณ เลิศรัตนการ และคนอื่นๆ (2540, หน้า 193195) ได้แนะนำวิธีการอ่านไว้ดังนี้
                1. การฝึกอ่านแบบคร่าวๆ
                   ในการอ่านแบบคร่าวๆ ผู้เรียนควรอ่านให้เร็วกว่าการอ่านปกติ 2 เท่าและต้องเปลี่ยนวิธีการอ่านกล่าวคือ แทนที่จะอ่านทุกคำให้อ่านข้ามคำหรือประโยคที่ไม่สำคัญ อ่านเพียงคำสำคัญที่บอกให้รู้ใจความสำคัญเท่านั้น ผู้เรียนควรปฏิบัติ ดังนี้
                   1.1  อ่าน 2 3 ประโยคแรกและตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร
                   1.2  อ่านย่อหน้าต่อไปอย่างเร็วเท่าที่จะจับใจความได้
                   1.3  อ่านเพียง 2 3 คำในแต่ละย่อหน้าโดยหาคำที่บอกใจความสำคัญ ซึ่งโดยปกติจะอยู่ตอนต้นของย่อหน้า แต่บางครั้งอาจอยู่ตอนท้ายของย่อหน้า
                   1.4  อ่านอย่างเร็วและจำไว้เสมอว่ารายละเอียดของเรื่องไม่ใช่เรื่องสำคัญ
                2. การอ่านเร็ว
                   เมื่อความเร็วในการอ่านมีความสำคัญดังกล่าว จึงควรส่งเสริมให้นักเรียนเพิ่มความเร็วในการอ่าน ในการฝึกอ่านเร็วมีวิธีการอ่าน ดังนี้
                   2.1  พยายามอ่านเป็นหน่วยความคิดไม่ใช่อ่านทีละคำ
                   2.2  ฝึกอ่านในใจ การอ่านออกเสียงจะทำให้การอ่านช้าลง
                   2.3  การสร้างภาพจากตัวหนังสือให้เป็นรูปธรรมจะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและจำได้
                   2.4  ควรอ่านข้อความอย่างเร็ว 1 รอบก่อน อย่าอ่านข้อความกลับไปกลับมาให้อ่านไปเรื่อยๆ อาจจะเข้าใจได้ในที่สุด
                   2.5  ควรจับสายตาไว้เหนือตัวหนังสือเล็กน้อย แล้วให้กวาดสายตาอ่านจับข้อความเป็นกลุ่มๆ อ่านจากบนลงล่างๆไม่ใช่จากซ้ายไปขวา กล่าวคือ ต้องฝึกช่วงสายตาให้กว้างเท่ากับความยาว 1 ช่วงบรรทัดเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการกวาดตา
                   2.6  ควรอ่านประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของแต่ละย่อหน้าก่อนเสมอ
                   2.7  มีสมาธิในการอ่าน
                นอกจากนี้ ธวัช วันชูชาติ (2542, หน้า 130131) ได้กล่าวถึง การสอนอ่านในขั้นของการจัดกิจกรรมหลังการอ่าน ซึ่งสรุปได้ดังนี้
                1. การวาดภาพจากเรื่องที่อ่าน
                2. การตั้งคำถามจากเรื่องที่อ่าน
                3. การย่อความจากเรื่องที่อ่าน
                4. การตอบคำถามจากเรื่องที่อ่าน
                วิภาดา ประสานทรัพย์ (2542, หน้า 76) ยังได้กล่าวถึงการสอนอ่านว่า ความสามารถในการอ่านเป็นความสามารถที่ใช้ในการรับสาร เช่นเดียวกับความสามารถในการฟังและมีความสำคัญมากในยุคนี้เนื่องจากผู้คนเป็นจำนวนมากที่สื่อสารกันด้วยตัวหนังสือ ในการสอนความสามารถในการอ่านได้ทำการแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้คือ
                1. กิจกรรมการสอนช่วงก่อนการอ่าน
                   เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีความสนใจ หรือเพื่อเป็นการโน้มน้าวให้นักเรียนเข้ามาสู่เรื่องที่จะอ่าน โดยอาศัยกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการคาดการณ์ล่วงหน้านั่นคือ ก่อนที่นักเรียนจะได้อ่านเรื่องราวของบทเรียนที่ครูได้เตรียมมาสอนก็จะให้นักเรียนลองคาดเดาเรื่องราวนั้นๆ ก่อน ประกอบกับการใช้ประสบการณ์เดิมเข้าช่วยโดยอาศัยข้อมูลเบื้องต้นเป็นแนวทาง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
                   1.1  ใช้ชื่อเรื่อง รูปภาพประกอบเรื่องที่อ่านและคำถามนำเป็นแนวทางในการโน้มน้าวนักเรียนมาสู่เรื่องที่จะเรียน
                   1.2  ให้ชื่อเรื่องและรายการคำศัพท์มาจำนวนหนึ่งแล้วให้นักเรียนเดาว่าจะมีคำศัพท์ใดอยู่ในเรื่องที่จะเรียนบ้าง
                   1.3  ใช้รูปภาพที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะสอนเป็นสื่อให้นักเรียนล่วงหน้าจากเรื่องที่อ่าน
                   1.4  ใช้รูปภาพของเรื่องที่จะใช้สอนเป็นสื่อในการให้นักเรียนลองแต่งประโยคล่วงหน้าจากคำศัพท์ในเรื่อง
                2. กิจกรรมการสอนระหว่างการอ่าน
                   เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจเรื่องที่จะได้อ่านมากขึ้นโดยจะยึดหลักว่าจุดมุ่งหมายของการอ่านครั้งนี้คืออะไรแล้วพยายามทำกิจกรรมเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ดังตัวอย่างกิจกรรมต่อไปนี้
                   2.1  การอ่านแบบจิ๊กซอว์ (Jigsaw reading) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อส่วนที่ตนเองจะต้องอ่าน เพื่อนำมาแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อน เพื่อทำให้งานที่ได้รับมอบหมายจากการอ่านสำเร็จ
                   2.2  ให้นักเรียนจับคู่รูปภาพและคำบรรยายจากเรื่องที่อ่าน
                   2.3  ให้นักเรียนเรียงลำดับก่อน หลังจากการอ่าน
                3. กิจกรรมการสอนหลังการอ่าน
                   กิจกรรมหลังจากการอ่านจัดได้ว่ามีประโยชน์มาเพราะนอกจากจะเป็นเหมือน
การสรุปเรื่องที่อ่านแล้วยังสามารถใช้เวลานี้ในการรวบรวมความคิดในด้านต่างๆ เช่น เรื่องคำศัพท์ สำนวนจาเรื่องและยังสามารถนำมาบูรณาการกับความสามารถอื่นๆ ได้ ดังตัวอย่าง
                   3.1 ถ่ายโอนความคิดของนักเรียนจากเรื่องที่อ่าน และค้นคว้าเพิ่มเติม
                   3.2 โครงงานเขียนหลังการอ่าน
                สมเกียรติ กินจำปา (2545, หน้า 2526) ได้กล่าวถึงการสอนความสามารถในการอ่านว่า ผู้สอนควรเพ่งเล็งในสิ่งต่อไปนี้
                1. ความเข้าใจ คือ ความสามารถที่จะเข้าใจในลายลักษณ์อักษรหรือข้อความที่อ่านอย่างครบถ้วน คือ อ่านรู้เรื่องนั่นเอง การอ่านนั้นความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ เป็นอันดับหนึ่งจึงไม่ควรอ่านเร็วเกินไปจนไม่รู้เรื่อง คนเราจะอ่านหนังสือได้เข้าใจเพียงใดนั้นย่อมแล้วแต่ประสบการณ์และการศึกษาที่ได้รับมา เมื่อได้เห็นได้อ่านได้ฟังมากขึ้น ย่อมจะเข้าในโลกดีขึ้นและมีผลให้อ่านหนังสือเข้าใจได้รวดเร็วและลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วย
                2. ความเร็ว ความเร็วในการอ่านมีความสำคัญรองลงมาจากความเข้าใจ ผู้อ่านที่อ่านเร็วและอ่านมากย่อมได้เปรียบทั้งในด้านการเรียน การทำงาน ผู้เรียนจะอ่านได้เร็วถ้าผู้สอนได้เห็นถึงประโยชน์ของความเร็ว แนะนำวิธีอ่านที่ถูกต้องให้ และฝึกหัดโดยมีควบคุมบ้างหรือฝึกหัดด้วยตนเอง



                รูบิน (Rubin, 1993, pp. 202-204) ได้เสนอวิธีการสอนอ่านไว้ว่า
                1. กิจกรรมการอ่านโดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง (DRTA : The directed reading thinking activity) วิธีการสอนแบบนี้ครูผู้สอนจะเป็นผู้จูงใจกระตุ้นให้นักเรียนคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับบทอ่าน และให้นักเรียนหาเหตุผลที่จะพิสูจน์ความคิดของตนเอง ส่วนนักเรียนจะทำนายหรือคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่านที่ครูกระตุ้น จากนั้นให้อ่านบทอ่านให้เข้าใจเพื่อหาเหตุผลมาพิสูจน์สิ่งที่ตนเองทำนายไว้ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ผู้สอนจะคอยเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือให้นักเรียนอยู่ในกระบวนการ ฉะนั้นการสอนแบบนี้ผู้สอนจำเป็นต้องมีความสามารถในการกระตุ้นให้นักเรียนได้ทำนายตั้งคำถามและคิดในระดับที่สูงขึ้น
                2. กลยุทธ์การเป็นแบบอย่างในการแสดงความคิดออกมาเป็นคำพูด (modeling thinking out loud strategy) วิธีนี้เป็นวิธีที่ครูแสดงความคิดออกมาเป็นคำพูด เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าครูมีกระบวนการหรือวิธีการอย่างไรในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่อ่านจนครูเกิดความเข้าใจขึ้นได้ เพราะนักเรียนบางคนอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้สอนอธิบาย การที่ผู้สอนพูดสิ่งที่ตนคิดออกมาจะทำให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
                3. การเชื่อมโยงข้อความเข้ากับชื่อเรื่องและการทำนายเรื่อง (literature webbing with predictable books) การสอนแบบนี้ผู้สอนจะตัดข้อความมาจากในหนังสือ จากนั้นนำเอาข้อความต่างๆ เหล่านั้นติดบนกระดานโดยโยงกับชื่อเรื่องบทอ่านที่ครูตัดข้อความเหล่านั้นมา จากนั้นให้นักเรียนทายเกี่ยวกับเรื่อง โดยข้อความที่ตัดมาจะต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนสามารถทำนายต่อไปได้
                สรุปได้ว่า การสอนอ่านนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน โดยเน้นหลักสำคัญในการสอนอ่านมีอยู่ 3 ส่วน ด้วยกัน คือ
                1. เนื้อเรื่องที่อ่านเหมาะสมกับคุณวุฒิและวัยวุฒิของผู้เรียน
                2. ตัวผู้เรียนเอง มีความรู้ ความสนใจ และสามารถกำกับควบคุมตนเองได้ดี
                3. ผู้สอน สามารถสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนต้องอ่านและฝึกฝนนักเรียนให้อ่านได้ดีมีประสิทธิภาพ
                    6.1  หลักการและกระบวนการสอนอ่าน
                     ในการสอนอ่านนั้นผู้สอนควรจะมีหลักยึด เพื่อว่าจะได้ดำเนินการสอนได้อย่างถูกต้องตามความมุ่งหมายในการสอนอ่าน ซึ่งมีผู้เสนอไว้ ดังนี้
                 ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล (2537, หน้า 529532) กล่าวว่า การอ่านมีกระบวนการ ดังนี้
                     ขั้นแรก การรู้จักคำ กระบวนการอ่านเกิดขึ้นเมื่อผู้อ่านรับรู้ความหมายของถ้อยคำ ภาษาที่เขียนถ่ายทอดด้วยตัวอักษรได้เข้าใจตรงกัน ตามปกติเราไม่ได้อ่านคำๆ เดียวแต่อ่านเป็นวลี ประโยค ข้อความหรือเรื่องราว ดังนั้นเมื่ออ่านข้อความที่ยาวขึ้น หากรู้คำมากเท่าใดก็ยิ่งเข้าใจเรื่องราวมากขึ้นเท่านั้น ถึงแม้จะมีคำบางที่ไม่รู้จักมาก่อน คำที่รู้จักก็อาจจะช่วยให้เข้าใจความหมายของคำใหม่ได้
                     ขั้นที่สอง การเข้าใจความหมายของสาร สาร คือ ความหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ในการอ่านแต่ละคนเข้าใจความหมายไม่ตรงกันทีเดียว คำเดียวกันอาจมีความหมายเพียงนัยเดียวหรือหลายนัยสำหรับแต่ละคน การเข้าใจสารของแต่ละคนขึ้นอยู่กับการตีความ
ซึ่งแตกต่างหรือคล้ายคลึงกัน แล้วแต่ความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับคำประเภทหรือข้อความนั้นๆ บริบทก็มีส่วนช่วยให้เข้าใจสารได้ตรงหรือใกล้เคียงกับเจตนาของผู้เขียน ผู้อ่านจะต้องฝึกฝนการตีความจนสามารถจับความรู้สึก อารมณ์และความคิด ตลอดจนเจตนาของผู้เขียนได้
                     ขั้นที่สาม การมีปฏิกิริยาต่อสาร ตามปกติเมื่อเราอ่านสิ่งใด เราย่อม คิด คล้อยตามหรือคัดค้านแยกแยะข้อมูลและเปรียบเทียบความคิดต่างๆ ว่าส่วนใดเหมาะสมหรือตรงกับความหมายที่แท้จริงของเรื่องที่อ่าน ดังนั้นปฏิกิริยาต่อสารจึงมีทั้งอารมณ์และความคิด ผู้อ่านจะเป็นผู้ใช้วิจารณญาณตัดสินสารนั้นได้ โดยใช้ประสบการณ์ชีวิตร่วมกับความรู้
ความเข้าใจได้ เมื่อไม่เข้าใจก็ตัดสินไม่ได้ว่าตอนใดสำคัญ ตอนใดเป็นความจริง ตอนใดเป็นความคิดจึงไม่สามารถสรุปความคิดและแก้ปัญหาใดๆ ได้
                     ขั้นที่สี่ การรวบรวมความคิด เมื่อผู้อ่านผ่านกระบวนการคิดจากขั้นแรกถึง
ขั้นที่สามแล้วจนถึงขั้นที่สี่ เป็นขั้นตัดสินใจว่าอ่านแล้วเข้าใจเพียงใด เพราะความเข้าใจจะวัดได้โดยผู้อ่านสามารถสรุปความ รวบรวมความรู้ความคิดจากสิ่งที่อ่านมาประสมประสานกับความรู้เดิมผู้อ่านจะเปรียบเทียบสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่แล้วเลือกรับเฉพาะสิ่งที่ได้ความรู้ความคิดที่ประสานกันขึ้นนี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ ขึ้น ทำให้ความรู้ความคิดเดิมได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรืออาจเพิ่มพูน ผู้อ่านจะเริ่มสนใจอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ถ้ารวบรวมความคิดแล้ว ผู้อ่านยังไม่เข้าใจสิ่งที่อ่านอยู่ ก็แสดงว่าผู้อ่านยังขาดพื้นฐานข้อที่สองและสามอยู่ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะพื้นฐานการอ่านให้มีมากขึ้น
                     ทรงพร อิศโรวุธกุล (2538, หน้า 1014) กล่าวถึงหลักในการสอนอ่านที่ควรคำนึงถึง ดังต่อไปนี้
                     1. ควรเป็นการอ่านในระดับข้อความ ผู้สอนไม่ควรสอนให้ผู้เรียนศึกษาเฉพาะส่วนย่อยๆ ของภาษาในบทอ่านและมองว่า คำ วลี ประโยค ในบทอ่านต่างเป็นอิสระต่อกัน ตนเข้าใจผิดคิดว่าการจะเข้าใจบทอ่านนั้นๆ จะต้องศึกษาหน่วยย่อยๆ เหล่านั้นอย่างละเอียดแต่ควรสอนให้ผู้เรียนอ่านและเข้าใจความหมายเป็นย่อหน้า
                     2. ควรเน้นความเข้าใจโดยสรุปก่อนความเข้าใจในรายละเอียด การสอนอ่านควรเน้นให้ผู้อ่าน อ่านเพื่อได้ความเข้าใจทั้งหมดของเรื่องที่อ่านเสียก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยลงไปในรายละเอียดของเนื้อหา แบบฝึกหัดที่ให้ทำก็เช่นเดียวกัน ควรให้ผู้เรียนได้ใช้ความเข้าใจกว้างๆ เช่น จุดมุ่งหมายของบทอ่านเสียก่อนจึงค่อยถามความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ สำนวนหรือเนื้อหาในรายละเอียด
                     3. ควรใช้บทอ่านที่พบในชีวิตจริง ตำราที่ใช้สอนภาษาอังกฤษโดยทั่วไปมักเลือกใช้ภาษาที่ทำให้ง่าย การทำเช่นนี้กลับมีข้อเสีย คือ ในชีวิตจริงคนเรามักพูดหรือเขียนซ้ำความหมายเดิม อ้างถึงสิ่งที่กล่าวมาแล้วหรือมักมีการใช้เครื่องบ่งบอกต่างๆ การนำข้อเขียนมาทำให้ง่ายกลับทำให้ข้อความนั้นยากแก่การเข้าใจเพราะผู้เรียนขาดเครื่องช่วยในการเดาความหมาย
                     4. ควรใช้ทักษะสัมพันธ์ ผู้สอนไม่ควรสอนความสามารถในการอ่านโดยแยกออกจากความสามารถอื่นๆ โดยสิ้นเชิง เพราะในชีวิตจริงเมื่อเราได้ฟังหรืออ่านอะไรแล้วเรามักจะนำไปเล่าต่อหรือเขียนให้คนอื่นอ่าน ดังนั้นกิจกรรมการอ่านควรนำความสามารถอื่นมาเสริมการฝึกสามารถในการอ่านด้วย เช่น อ่านประกาศรับสมัครงานแล้วเขียนจดหมายไปบอกเพื่อน เป็นต้น
                     5. ควรอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย ผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียนรู้จุดมุ่งหมายก่อนเริ่มการอ่านในแต่ละครั้งเพราะจะเป็นเครื่องกำหนดประเภทของการอ่านและสามารถในการอ่านแบบต่างๆ
                     6. ควรเน้นที่กระบวนการค้นคว้าหาคำตอบ โดยการอ่านเป็นกิจกรรมที่ต้องเป็นไปด้วยการเคลื่อนไหว เพราะตลอดเวลาผู้อ่านจะต้องเดาความหมาย ทำนาย ตรวจสอบและถาม คำถามตัวเอง ดังนั้นในการอ่านควรมุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาและฝึกฝนความสามารถในทักษะเหล่านี้อย่างเป็นระบบมากกว่าที่จะเน้นที่คำตอบ
                     7. ผู้เรียนควรอ่านด้วยตนเอง หลังจากที่สอนคำศัพท์บางคำที่คาดเดาว่าจะมีปัญหา และให้หลักการในการอ่านแล้ว ควรปล่อยให้ผู้เรียนอ่านด้วยตนเอง เพื่อเขาจะได้ฝึกช่วยตนเองเมื่อพบคำศัพท์ใหม่จะได้รู้จักเดาศัพท์นั้นจากคำข้างเคียงหรือจากรากศัพท์
                     8. ส่งเสริมการอ่านนอกเวลาเรียน สามารถในการอ่านจำเป็นต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอจนเกิดความชำนาญ การอ่านในห้องเรียนจึงไม่พอ ผู้สอนต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมผู้เรียนให้สนใจในการอ่านหนังสือนอกห้องเรียน
                 กู๊ดแมน (Goodman, 1982, p.13) กล่าวว่า กระบวนการสอนอ่านมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
                 1. ขั้นตอนที่สมองระลึกหรือจำตัวอักษรได้ตามที่ผู้เขียนได้เขียนไว้
(recognition – initiation) เป็นการมองเห็นคำแล้วจำได้ว่าคำๆ นั้นเขียนแทนคำพูดว่าอะไรและการอ่านก็จะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเป็นการเริ่มอีกแบบหนึ่งหรือการอ่านอาจจะเริ่มต้นด้วยการมองเห็นรูปภาพ รูปภาพนั้นก็เป็นตัวเริ่มต้นในการอ่านได้อีกลักษณะหนึ่ง
                     2. การคาดคะเนหรือคาดการณ์ล่วงหน้า (prediction) เป็นการคาดคะเนหรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเรื่องที่อ่านนั้นเป็นอย่างไร และจะดำเนินไปในลักษณะใด
                     3. การหาข้อมูลยืนยัน (confirmation) เป็นการหาข้อมูลยืนยันว่าสิ่งที่ตนคาดการณ์ไว้หรือการหาคำยืนยันในความคิดของผู้อื่น
                             4. การแก้ไขการปรับหรือการจัดกระบวนการคิด (correction) เป็นการแก้ไข
การปรับหรือการจัดกระบวนการคิดอีกครั้งหนึ่งเมื่อผู้อ่านพบว่าสิ่งที่ตนคาดการณ์ไว้นั้นไม่ถูกต้องเป็นการแก้ความคิดของผู้อ่านให้ถูกต้อง
                             5. การสิ้นสุดการอ่าน (termination) บุคคลจะยุติการอ่านเมื่อทำกิจกรรมทั้งหมดเรียบร้อยแล้วอาจจะไม่ใช่การอ่านจบ หรือผู้อ่านเข้าใจความหมายในการอ่านได้น้อยหรือไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน หรือเรื่องนั้นไม่น่าสนใจ

                             จากหลักการและกระบวนการสอนอ่านนั้นสามารถสรุปได้ว่า ผู้สอนควรคำนึงถึง กระบวนการอ่านและทำการสอนตามกระบวนการอ่าน โดยสอนให้สอดคล้องกับชีวิตจริง และเน้นให้ผู้เรียนสามารถอ่านได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น