วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทที่ 5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

บทที่ 5
สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

            การวิจัยครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบความสามารถและเจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี
กับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ สรุปและอภิปรายผล ดังนี้

ความมุ่งหมายของการวิจัย
               1. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน
            2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (schema theory) ระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน
            3. เพื่อความสามารถในการอ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี (sociocultural) กับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
            4. เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการอ่านภาษาอังกฤษ ทั้งที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีกับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้

สมมติฐานของการวิจัย
            1.  ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนโดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม
            2. ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนโดยใช้วิธีสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
            3. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตาม ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้  
            4. เจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้

ขอบเขตของการวิจัย
            1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
                1.1 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ
เทพสตรี จังหวัดลพบุรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 5 ห้องเรียนที่คละความสามารถรวมจำนวนนักเรียนทั้งหมด 250 คน
                1.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี สังกัดสำนักงานการอุดมศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/4 จำนวน 48 คน และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 จำนวน 47 คน ได้จากการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) ด้วยการจับสลากเป็น 2 กลุ่ม เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มทดลองลำดับที่ 1 และ 2
              1.3 สุ่มห้องเรียนด้วยการสุ่มแบบง่ายได้ 2 ห้องเรียน จาก 5 ห้องเรียน
                    1.3.1 สุ่มนักเรียนจากห้องเรียนที่สุ่มไว้ทั้ง 2 ห้อง ประมาณห้องละ 50 คน
                    1.3.2 สุ่มวิธีสอนให้กับห้องเรียนเพื่อเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมได้  
            2. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/4 เป็นกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 จำนวน 47 คนได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรม และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 เป็นกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 2 จำนวน 48 คน ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
            3. เนื้อหาที่ใช้ทำการสอน คือ เนื้อการอ่านจากหนังสือ Super Goal ตั้งแต่บทที่ 1-12นอกจากนี้ยังศึกษาและคัดเลือกเนื้อหาการอ่าน จากเนื้อหาจริงที่พบในชีวิตประจำวัน เช่น ข่าว
การสนทนาต่างๆ
            4. ระยะเวลาในการทดลอง ในแต่ละห้องสอน สัปดาห์ละ 2 คาบๆ ละ 50 นาที  4 สัปดาห์ รวม 8 คาบ ทดสอบก่อนเรียน ห้องละ 1 คาบ และทดสอบหลังเรียน ห้องละ 1 คาบ รวม 10 คาบ/ห้อง

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
            1. แผนการจัดการเรียนรู้ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย
                1.1 แผนการจัดการเรียนรู้ตามวิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของ
ไวก็อตสกี
                1.2 แผนการจัดการเรียนรู้ตามวิธีการสอนโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
            2. แบบวัดความสามารถในการอ่าน มีค่าความยากง่าย (p) อยู่ระหว่าง 0.20 - 0.80
ค่าอำนาจำแนก (r) อยู่ระหว่าง 0.30 – 1.00 ความเชื่อมั่น (KR-20) อยู่ที่ 0.880
            3. แบบสอบถามเจตคติที่มีต่อการอ่านภาษาอังกฤษ มีค่าความเชื่อมั่น (chronbach - ) อยู่ที่ 0.844

การเก็บรวบรวมข้อมูล
               ขั้นตอนในการดำเนินการทดลองและรวบรวมข้อมูล มีดังนี้
            1. ทำการทดสอบก่อนเรียน (pretest) ทั้งนักเรียนกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 และ 2 ด้วยแบบวัดความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้สร้างขึ้นเอง ใช้เวลา 1 คาบต่อกลุ่ม
            2. ดำเนินการสอนกลุ่มทดลองที่ 1 และ 2 โดยใช้เนื้อหาเดียวกันและระยะเวลาเท่ากันโดยใช้ผู้วิจัยสอนเองทั้ง 2 กลุ่ม ใช้เวลาสอนสัปดาห์ละ 2 คาบ คาบละ 50 นาที รวม 4 สัปดาห์ รวมเวลาที่ใช้สอนทั้งหมด 8 คาบ ต่อกลุ่ม
            3. ทำการสอบหลังเรียน (posttest) ทั้งกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 และ 2 โดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นฉบับเดียวกับที่ทำการสอบก่อนเรียน ใช้เวลา 1 คาบ ต่อกลุ่ม และให้นักเรียนทำแบบสอบถามวัดเจตคติที่มีต่อการสอนโดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมและทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ จากนั้นนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ เพื่อทดสอบสมมติฐาน
            4. นำผลการทดสอบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษมาตรวจให้คะแนน แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีทางสถิติ ทำการเปรียบเทียบผลการสอนทั้ง 2 วิธีการ เพื่อทดสอบสมมติฐาน

การวิเคราะห์ข้อมูล
            1. การเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษที่ได้รับการสอนตามทฤษฎี
เชิงสังคมและวัฒนธรรม โดยใช้สถิติแบบ ทดสอบ ที (
t-test)
            2. การเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ โดยใช้สถิติแบบ ทดสอบ ที (t-test)
            3. การเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษที่ได้รับการสอนตามทฤษฎี
เชิงสังคมและวัฒนธรรมกับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ โดยใช้สถิติแบบ ทดสอบ ที(
t-test)
            4. เปรียบเทียบเจตคติในการสอนอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมกับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ โดยใช้สถิติแบบ หาค่าเฉลี่ย (mean)

สรุปผลการวิจัย
            จากการวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบความสามารถและเจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี
กับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ สรุปผลได้ดังนี้
            1. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
            2. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
            3. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีกับนักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ ไม่แตกต่างกัน
            4. เจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี กับนักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทาง ความรู้ ไม่แตกต่างกัน

อภิปรายผลการวิจัย
            จากการวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบความสามารถและเจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี
กับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ มีประเด็นนำอภิปรายผลดังนี้
            1. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ .05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียน แบ่งกลุ่มกันอภิปรายสนทนาคำถามผู้สอนจะเป็นผู้ตั้งคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการคิดและพยายามนำพานักเรียนไปสู่ความรู้ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ผู้สอนยังได้สอดแทรกเนื้อหาเชิงสังคมและวัฒนธรรมไทยเข้าไปด้วย เพื่อให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคยและรักในความเป็นไทย อันจะนำไปสู่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยตามแผนการสอน ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าเรื่องที่เรียนไม่ได้ไกลตัว เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน จึงเกิดการเรียนรู้ร่วมกันภายในห้องเรียน ทำให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ชินะพัฒน์  ชื่นแดชุ่ม (2542)
ได้ศึกษาผลของการใช้การเรียนการสอนตามแนวคิดการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของไวก็อตสกี ที่มีต่อทักษะภาษาไทยและการกำกับตนเอง พบว่า ผลการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
สอดคล้องกับ งานวิจัยของ ประทุม  ศรีรักษา (2549, บทคัดย่อ) ที่ว่า การสอนเชิงสังคมและวัฒนธรรมนั้น ส่งเสริมและเกื้อหนุนสังคมไทยอย่างมาก สอดคล้องกับงานวิจัยของซู (Hsu, 2005, abstract) ที่ได้พบว่าความรู้ที่ได้ เรียนมากับประสบการณ์ตรงมาบรรจบกัน ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกว่า ZPD และเกิดเป็นความคิดรวบยอดอันใหม่ขึ้นมา สอดคล้องกับงานวิจัยของ วูด (Wood, 1983, abstract) ที่ได้ศึกษาทฤษฎีของไวก็อตสกีเปรียบเทียบกับของ แคนท์, โคเลอ ริดจ์, ริชาร์ด, ดิวอี้, และโรเซนแบลต (Kant, Coleridge, Richards, Dewey, & Rosenblat) พบว่า ที่ศึกษาตามทฤษฎีของไวก็อตสกี นั้นมีความสัมพันธ์ กับภาษา สังคม และจิตใจ สอดคล้องกับ งานวิจัยของเรย์ส (Reyes, 2005, abstract) ที่ได้ศึกษาการเปรียบเทียบพัฒนาการทางความคิดและทักษะทางสังคมระหว่างผู้เรียน 2 กลุ่ม ที่มีประสบการณ์ด้านภาษาต่างกันปรากฏว่าผลสอดคล้องกับทฤษฎีของ
ไวก็อตสกี และเดนแฮม
(Denham) ในเรื่อง พัฒนาการทางการคิดและทักษะทางสังคม การสอนสอดคล้องกับงานวิจัยของโคบายาชิ (Kobayashi, 2005, abstract) พบว่า การสอนในรูปแบบเชิงสังคมและวัฒนธรรมส่งเสริมให้เกิดความกลมเกลียวกันภายในกลุ่มก่อให้เกิดการช่วยกัน แบ่งปันกันในการเรียนรู้ร่วมกัน และงานวิจัยของคาซาล (Casal, 2012, p.9) ที่ได้กล่าวว่าการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี  ได้ปรับปรุงความรู้ความเข้าใจของนักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศได้ดี และนำไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันที่พวกเขาต้องเจอได้ด้วย
            2. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ ทำให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะตอบคำถามที่ผู้สอนพยายามตั้งคำถามให้เกิดการเรียนรู้ และเชื่อมโยงความรู้ประสบการณ์ของนักเรียนกับความรู้ใหม่ ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าเนื้อหาที่เรียนนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนเอง จึงตั้งใจเรียน อีกทั้งมอบหมายงานให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองด้วย ดังคำกล่าวของ ชวาร์ซ, แอลเวอร์ธ, แกรแฮม, และไนท์ (Schwartz, Ellsworth, Graham, & Knight, 1998, unpaged) ที่ว่าทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้เป็นทฤษฎีที่ถูกต้องสำหรับผู้เรียนโครงสร้างและความสามารถทางความรู้ในการจำข้อมูล  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ศิริพร  ฉันทานนท์ (2539, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจตามทฤษฎีโครงสร้างความรู้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายพบว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้มีผลการอ่านภาษาอังกฤษดีกว่านักเรียนที่ได้รับ
การสอนตามปกติ สอดคล้องกับงานวิจัยของแพน
(Pan, 2006, abstract) ได้ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ พบว่ามีส่วนช่วยในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  
            3. ความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีกับนักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ ไม่แตกต่างกัน ไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีเป็นเรื่องใหม่นักเรียนไม่ไม่คุ้นเคยการเรียนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน นักเรียนเชื่อว่าความรู้อยู่ที่ผู้สอน ในตำรา นอกจากนี้มีการแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นกลุ่มๆ จาก
การสังเกตของผู้วิจัยพบว่าการที่นักเรียนมีผู้นำกลุ่มที่ไม่เก่ง จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ก่อให้เกิดความไม่สนใจฟังเพื่อน อีกประการหนึ่งคือ การที่นักเรียนในกลุ่มอาศัยเพื่อนที่มีความสามารถทำงาน แต่ตนเองไม่ได้คิดอะไรเลย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ประทุม ศรีรักษา
(Sriraksa, 2006,
pp. 128-150) ซึ่งกล่าวว่า ข้อจำกัดของการทำงานกลุ่มคือการที่ นักเรียนในกลุ่มบางคนไม่ได้ออกความคิดเห็นเป็นการเรียนแบบไม่กระตือรือร้น ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้เท่าที่ควร เมื่อทำ
การเปรียบเทียบผลการเรียนตัวต่อตัวแล้วผลการเรียนจึงออกมาไม่ดีนัก การอ่านภาษาอังกฤษตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้นั้นผู้เรียนจะได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง สอดคล้องกับงานวิจัยของ ศิริพร ฉันทานนท์ (ศิริพร ฉันทานนท์, 2539, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจตามทฤษฎีโครงสร้างความรู้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่านักเรียนกลุ่มทดลอง มีความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความเข้าใจการอ่านภาษาอังกฤษ ทำให้ผู้เรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้เกิดความคิดรวบยอดขึ้นมา นั่นคือ นักเรียนคิดเป็นเข้าใจได้ดี จนเกิดความรู้ใหม่ขึ้นมา
            นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้นั้นเกิด
การเชื่อมโยงความรู้ในการอ่านภาษาอังกฤษซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จากทั้งนักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ดังงานวิจัยของอัลอิสซา
(Al-Issa, 2006, p.41) นอกจากนี้ยังพบว่าการอ่านเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับบทอ่าน โดยอาศัยความรู้เดิมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในการอ่านบทอ่านต่างๆ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงความรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้นั้นก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ (active learning) (Robins, & Mayer, 1993, pp. 529-538)
            4. เจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี กับนักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทาง ความรู้ ไม่แตกต่างกัน คือ ไม่ตรงตามสมมติฐาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าผู้สอนจัดการเรียนการสอนได้ไม่แตกต่างกัน เท่าเทียมกันทั้งในด้านการดึงเอาวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนและประสบการณ์ที่ป่านมาของนักเรียนด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ วิลคอกซ์ (Wilcox, 2005, abstract) ได้ศึกษาวิธีการที่ผู้สอนและผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองในด้านคลอบคลุมวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และวิถีชีวิต พบว่ามีการพยายามแทรกวัฒนธรรมในการเรียนการสอนและทำให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นภายในห้องเรียนได้ดี
และสอดคล้องกับ งานวิจัยของ ฟลอเรนซิโอ้ (Florencio, 2004, abstract) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความรู้ทีมีอยู่ก่อนแล้วในการอ่านจับใจความสำคัญของนักศึกษาที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่เป็นชาวบราซิลและชาวอเมริกัน ได้กล่าวว่าทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้นั้นเน้นที่การอ่านจับใจความสำคัญโดยที่ผู้อ่านและข้อความมีการโต้ตอบกันไปมา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าความรู้ที่มีอยู่ก่อนแล้วมีความสำคัญกับนักศึกษาทั้งสองชาติและจากการศึกษา พบว่าการแสดงละครสั้นๆ เกี่ยวกับความรู้เดิมที่มีต่อการเรียนบทอ่านก็มีความสำคัญ ซึ่งจากการพบในผู้เรียน EFL (English as a Foreign Language)และสามารถนำไปใช้กับผู้เรียน ESL (English as a Second Language) ได้ด้วยในโอกาสหน้า นอกจากนี้ยังพบว่าการสอนอ่านภาษาอังกฤษตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการอ่านให้ดีขึ้นได้ด้วย ตามงานวิจัยของ อัลอิสซา (Al-Issa, 2006, p. 45) จากแนวคิดของ จาโคโบวิทส์ (Jakobovits, 1970, p. 110)
กล่าวว่า การสร้างเจตคติต่อการเรียนภาษาต่างประเทศนั้นจะต้องคํานึงถึงความต้องการใน
การประสบผลสําเร็จในการเรียนภาษาของผู้เรียน เจตคติต่อครูผู้สอน ความสนใจในการเรียน 
และเจตคติต่อวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา ซึ่งนักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้อาจมีเจตคติในเรื่องดังกล่าวอยู่ในระดับที่มากกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามทฤษฎี
เชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี ก็เป็นได้
ข้อเสนอแนะ
               จากการดำเนินการวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบความสามารถและเจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีเชิงสังคม และวัฒนธรรมของไวก็อตสกี กับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ ผู้วิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะ ดังนี้
               1. ข้อเสนอแนะทั่วไป
                1.1 การจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีและตามทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ ต้องคำนึงถึงเรื่อง ความยากง่ายของเนื้อหา การดำเนินกิจกรรม
การเรียนการสอน ซึ่งมีขั้นตอนพร้อมคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะอาจกินเวลาเกินกว่า
1 คาบเรียน ตามที่กำหนดไว้
                1.2 ผู้สอนควรคำนึงถึงสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของนักเรียนเพื่อที่จะจัดเนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอนได้ตรงกับชีวิตประจำวัน และทำให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของการอ่านภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีผลต่อชีวิตประจำวัน
                1.3 จำนวนคาบในการจัดการเรียนการสอนควรมีตั้งแต่ 10 คาบขึ้นไป และไม่ควรเป็น
คาบเดี่ยว เพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น และตรงตามทุกขั้นตอนของทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีและทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้อย่างครบถ้วน
            2. ข้อเสนอแนะเพื่อการทำการวิจัยครั้งต่อไป
                2.1 ควรมีการวัดด้านอื่นนอกจากด้านการอ่าน เช่น การฟัง-พูด เขียน โดยใช้ทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี กับทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้
                2.2 ควรมีการเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านและเจตคติทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกีกับ วิธีอื่นนอกจากทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้ เช่น ทฤษฎีของเพียเจต์ (Piaget) เป็นต้น
                2.3 ควรมีการเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านและเจตคติทฤษฎีโครงสร้างทางความรู้กับ วิธีอื่นนอกจากทฤษฎีเชิงสังคมและวัฒนธรรมของไวก็อตสกี เช่น การสอนแบบร่วมมือร่วมใจ เป็นต้น
                2.4 ควรมีการนำแผนการจัดการเรียนรู้นี้ไปใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ที่สถานศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อยอดพัฒนาการทางความรู้ของนักเรียนที่โรงเรียนอื่น นอกจากที่ สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

                2.5 ควรมีการนำแผนการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีทั้ง 2 ในการสอนชั้นอื่นๆ ต่อไป เพื่อเป็นการพัฒนาการทางความรู้ของนักเรียนชั้นอื่นๆ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น