วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสาร (17)

เจตคติต่อความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ
            1.  ความหมายของเจตคติ
             เจตคติเป็นคำสมาสระหว่างคำว่า เจต และคำว่า คติ ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 (2546, หน้า 215-321) ได้ให้ความหมายว่า เจต แปลว่า ท่าทีหรือความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และคำว่า คติ แปลว่า แบบอย่าง หรือวิธี หรือแนวทาง
เมื่อรวมเข้าด้วยกันแปลว่า แบบอย่างของความรู้สึก ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งคำว่าเจตคติเป็นคำที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติขึ้น แต่เนื่องจากเป็นการบัญญัติขึ้นในภายหลัง จึงได้มีการนำคำว่าทัศนคติมาใช้ในเอกสารตำราทางวิชาการบางฉบับ
             อย่างไรก็ตาม ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Attitude เหมือนกัน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง การแปลความหมายคำว่า Attitude ในภาษาไทยจึงอาจเรียกแตกต่างกันไป นักวิชาการศึกษาบางท่านอาจใช้คำว่าทัศนคติหรือบางท่านอาจใช้คำว่าเจตคติซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน และไม่ว่าจะใช้คำใดต่างก็เป็นการแปลความหมายของคำว่า “Attitude”
ทั้งสิ้น การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของวรรณกรรมที่กล่าวถึงคำว่าทัศนคติและเจตคติควบคู่กันไป และในเอกสารนี้จะถือว่าเป็นคำเดียวกัน
                นักจิตวิทยาและนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของ “เจตคติ” ไว้หลายทรรศนะด้วยกัน ดั้งนี้
             กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2538, หน้า 233) ได้แสดงทรรศนะว่า เจตคติมีลักษณะ ใกล้เคียงกับทัศนคติมาก กล่าวกันว่า เจตคติความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งหมายถึงทางบวกหรือทัศนคติที่ดีนั่นเอง
                สำเริง บุญเรืองรัตน์ (2538, หน้า 8) กล่าวถึง เจตคติ ว่าเป็นการแสดงออก
ซึ่งความรู้สึกชอบ การมีเจตคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีจิตใจจดจ่อ มีสมาธิในการทำสิ่งนั้นๆ จึงมีส่วนช่วยให้เกิดโอกาสที่จะได้รับความสำเร็จในด้านนั้นมากขึ้น
                โฟรชลิช (Froachlich, 1947, p.135) เห็นว่า เจตคติเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่ง
ที่กระตุ้นให้บุคคลกระทำการใดๆ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เจตคติในการแสดงความโน้มเอียงของบุคคลที่จะเลือกกระทำต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนชอบและไม่ชอบมากกว่าสิ่งอื่นๆ หรือกล่าวว่า การชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง ซึ่งตรงกับความคิดของดิวอี้
(Dewey, 1959, p.66) ที่ได้กล่าวว่า เจตคติคือ ความรู้สึกชอบหรือความพอใจที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง
                ธอร์นไดค์ (Thorndike, 1970, p.118) กล่าวถึง เจตคติว่าเป็นลักษณะหนึ่งของบุคลิกภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกและความนึกคิดของคนเราในทางที่ชอบและไม่ชอบต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
                โฟร์ลิกและฮอยท์ (Forlick, & Hoyt, 1971, p.174) กล่าวว่า เจตคติ เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้บุคคลกระทำกิจกรรม หรือหมายถึง แนวโน้มที่จะเลือกกิจกรรมหรือสิ่งที่ชอบมากกว่าสิ่งอื่น จึงกล่าวได้ว่า เจตคติ คือ ความชอบ
                กู๊ด (Good, 1973, p.49 อ้างถึงใน อัชฌา ชื่นบุญ, 2544, หน้า 32) ได้กล่าวว่า เจตคติ หมายถึง ความเอนเอียงหรือความชอบของบุคคลที่แสดงผลเฉพาะไปสู่วัตถุ สิ่งของ สถานการณ์ หรือคุณค่า ตามปกติจะประกอบด้วยความรู้สึกและอารมณ์
                เคนนิเออร์ (Kenier, 1974, p.671) ได้กล่าวว่า เจตคติ หมายถึคง ความพร้อมของแต่ละบุคคลที่จะแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าในสังคม ครอบครัว หรือแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมในทางที่จะสนับสนุนหรือต่อต้านประสบการณ์บางอย่าง บุคคล สถาบัน หรือ แนวความคิดบางอย่าง การแสดงออกในลักษณะพึงพอใจ เรียกว่า เจตคติทางบวก และแสดงออกลักษณะไม่พึงพอใจ เรียกว่า เจตคติทางลบ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
                บารอน (Baron, 1994, p.642) ได้กล่าวว่า เจตคติ หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อ และพฤติกรรมที่มีต่อสิ่งของ คนเรื่องราว และกลุ่มต่างๆ ในทางบวกหรือทางลบ
                เทอร์สโตน (Thurnstone, 1995, p.531) ได้กล่าวว่า เจตคติ หมายถึง ผลรวมเกี่ยวกับความรู้สึก อคติ ความกลัวต่อบางสิ่งบางอย่าง การแสดงออกทางการพูดเป็นความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งและความคิดนี้เป็นสัญลักษณ์ของเจตคติ
                เลฟตัน, และลอร่า (Lefton, & Laura, 1997, p.354) ได้กล่าวว่า เจตคติ หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อ และการโน้มน้าวให้แสดงพฤติกรรมต่อคน หรือสิ่งต่างๆ
                ดาร์เลย์ (Darley, 1998, p.611) ได้กล่าวว่า เจตคติ หมายถึง การแสดงออกที่ได้ ไตร่ตรองแล้วต่อเหตุการณ์สิ่งต่างๆ หรือสิ่งที่ตนมีความพึงพอใจ
                สรุปได้ว่า เจตคติ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางบวกหรือลบ ชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ ต่อกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถือเป็นอารมณ์ความรู้สึที่ตอบสนองต่อสิ่งดังกล่าว
            2.  องค์ประกอบของเจตคติ
             เจตคติ (attitudes) เป็นความเชื่อมั่น ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่างๆ เช่น
ต่อการกระทำต่อสิ่งของ ต่อบุคคล ต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งท่าทีที่แสดงออกบ่งบอกถึง สภาพจิตใจที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
                ธัญญะ  บุปผเวส (2537, หน้า 301) แบ่งองค์ประกอบของเจตคติไว้ 3 ประการ คือ
                1. ด้านความคิดความเข้าใจ (cognitive component)
                2. ด้านอารมณ์ (emotional component)
                3. ด้านพฤติกรรม (behavioral component)



                สุชา จันทร์เอม, และสุรางค์ จันทร์เอม (2539, หน้า 242) ได้แบ่งองค์ประกอบของ
เจตคติไว้ 3 ประการ คือ
                1. องค์ประกอบที่เกี่ยวกับความรู้ (cognitive component)
                2. องค์ประกอบด้านความรู้สึก (feeling component) เป็นความรู้สึกของบุคคล
ซึ่งมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง หากบุคคบมีความรู้สึกชอบพอบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะช่วยให้เกิดเจตคติที่ดีต่อบุคคลนั้น หรือสิ่งนั้น
                3. องค์ประกอบเกี่ยวกับพฤติกรรม (action tendency component) เกิดจาก พฤติกรรมของบุคคล คือ มีแนวโน้มที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมตอบโต้อย่างใดอย่างหนึ่งออกมา พฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นเกิดจากความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับบุคคล เหตุการณ์ หรือสิ่งเร้านั้นๆ
                กฤษณา ศักดิ์ศรี (2540, หน้า 185) ได้กล่าวว่า เจตคติเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งเร้า ซึ่งเกิดแล้วค่อนข้างคงทน แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และแสดงออกมาให้เห็นได้ และเจตคติเป็นความคิดเห็นซึ่งมีอารมณ์เป็นส่วนประกอบ และเป็นส่วนที่พร้อมที่จะมีปฏิกิริยาเฉพาะอย่างต่อสถานการณ์ภายนอก มีองค์ประกอบอยู่ 3 องค์ประกอบ คือ
                1. องค์ประกอบทางพุทธิปัญญา (cognitive component) ได้แก่ ความรู้ ความคิด
                2. องค์ประกอบทางด้านท่าทีความรู้สึก (affective component) เป็นส่วนประกอบ
ทางด้านความรู้สึกหรืออารมณ์ สภาพทางอารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ไม่พอใจ พอใจ
                3. องค์ประกอบทางด้านการปฏิบัติ (behavioral component) เป็นองค์ประกอบ
ที่มีแนวโน้มในทางปฏิบัติ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นกับความคิดและกระบวนการทางสรีระที่พร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าตามความรู้และความรู้สึกที่มีอยู่ ทั้งในด้านที่สนับสนุน
(เจตคติที่ดี) หรือคัดค้าน (เจตคติที่ไม่ดี)
                เลฟตัน, และลอร่า (Lefton, & Laura, 1997, p.354) ได้กล่าวถึง องค์ประกอบของเจตคติไว้ 3 ประการ คือ
                1. ด้านความรู้ ความเข้าใจ (the cognitive component) เป็นความเชื่อที่มีต่อสิ่งนั้นๆ
                2. ด้านอารมณ์ (the emotional component) เป็นความเชื่อที่มีต่อสิ่งนั้นๆ
                3. ด้านพฤติกรรม (the behavioral component) เป็นการแสดงออกของความเชื่อ
และความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้น
                สรุปได้ว่า องค์ประกอบของเจตคติ มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
                1. ความรู้ ความจำ
                2. ความรู้สึก ความเข้าใจ
                3. การแสดงออกทางพฤติกรรม
                 ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 ประการจะมีความสอดคล้องและมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งทางบวกและทางลบ และสอดคล้องกับการวัดผลจุดประสงค์การเรียนรู้ด้วย แต่ในด้านทัศนคติ (attitude)
            3.  ลักษณะของเจตคติ
                สงวน สุทธิเลิศอรุณ (2530, หน้า 91-92) ได้อธิบายถึงลักษณะของเจตคติของบุคคลไว้ ดังนี้
                1. เจตคติเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม
                2. เจตคติเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล ดังนั้น เจตคติของบุคคลย่อมแตกต่างกัน
                3. เจตคติที่ดีย่อมทำให้บุคคลเอาใจใส่ต่อสิ่งที่ตนสนใจ
                4. เจตคติของบุคคลย่อมเปลี่ยนแปลงได้
                5. เจตคติเป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของบุคคลได้
                6. เจตคติที่ดีทำให้เกิดความมุมานะที่จะทำงานให้สำเร็จ
                จำรอง เงินดี (2539, หน้า 368-376) ได้กล่าวถึง ลักษณะของเจตคติ ไว้ดังนี้
                1. เจตคติสามารถเกิดกับทุกๆ สิ่งได้ เช่น บุคคล วัตถุ กลุ่ม สถาบัน แนวความคิด
และขบวนการทั่วๆ ไป
                2. เจตคติ เป็นความรู้สึกที่แสดงออกโดยตรงต่อสิ่งเร้าเป็นอย่างๆ ไป บุคคลย่อมแสดงความรู้สึกไม่ชอบกับอีกคนหนึ่งที่เขารู้จัก แสดงว่าต้องแยกรับรู้ต่อสิ่งเร้านั้น
                3. เจตคติ เป็นสิ่งที่คงทนถาวร แม้ว่าเจตคติเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับ การเรียนรู้อื่นๆ แต่ที่เป็นความรู้สึกที่ฝังลึก บุคคลที่พิถีพิถันกับการแต่งตัวจะให้เป็นคนแต่งตัวง่ายๆ ต้องใช้เวลานานเพราะมีผลต่ออารมณ์
                4. เจตคติ เป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งอันเป็นแรงผลักดันก่อให้เกิดลักษณะนิสัยขึ้นได้ เช่น บุคคลที่มีความเลื่อมใสในศาสนา  ก็ย่อมมีความผูกพันเกี่ยวข้องในด้านนี้ ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัย
                5. เจตคติ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพราะเจตคติไม่ใช่แรงขับจากร่างกาย เช่น ความหิวเป็นแรงขับทางร่างกาย การเลือกอาหารของแต่ละบุคคลเป็นพื้นฐานมาจากการเรียนรู้ทางสังคม
นั้นจึงถือว่าเป็นเจตคติ
                สุชา จันทร์เอม และ สุรางค์ จันทร์เอม (2539, หน้า 248-249) ได้สรุปถึงลักษณะ
เจตคติ ไว้ดังนี้
                1. เกิดจากการเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น
                2. เกิดจากแรงจูงใจของสิ่งเร้า
                3. เด็กมีความถนัดในสิ่งนั้น และมีประสบการณ์บ้างแล้ว
                4. เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อเด็ก
                5. เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของเด็ก
                6. เป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับเด็ก และทำให้เด็กตื่นตัว

                กฤษณา  ศักดิ์ศรี (2540, หน้า 185-187) ได้กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของเจตคติ ดังนี้
                1. เจตคติ เกิดจากการเรียนรู้หรือประสบการณ์มิได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้ก็ย่อมจะมีความรู้สึก ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้น นั่นคือ เกิดเจตคติขึ้นแล้ว
                2. เจตคติเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ มิใช่ว่าคนเราเกลียดหรือชอบอะไรไปตลอดชีวิต อาจเปลี่ยนเป็นตรงกันข้ามก็ได้ ถ้าสภาพแวดล้อม สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เจตคติของบุคคลนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงจากที่ยอมรับเป็นไม่ยอมรับก็ได้
                3. บุคคลแต่ละบุคคลย่อมมีเจตคติต่อบุคคล หรือเหตุการณ์ที่แตกต่างกันแล้วแต่ประสบการณ์ของบุคคลนั้น
                4. เจตคติมีลักษณะคงทนถาวรพอสมควร บุคคลจะมีเจตคติต่อสิ่งใดได้ ย่อมใช้เวลานาน ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เจตคติเกิดจากความรู้สึกที่สะสมมานาน จริงอยู่ที่เจตคติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาชั่วครู่ชั่วยาม หรือในวันหนึ่งวันเดียวชอบกลับไปกลับมาไม่รู้กี่หน หากบุคคลมีความรู้สึกเช่นนั้นตลอดไป จนกระทั่งเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปเกิดการเรียนรู้ใหม่ ใจยอมรับ นั่นแสดงว่ามีกระบวนการซึ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย
                5. เจตคติ อาจเกิดจากจิตสำนึก หรือจากไร้จิตสำนึกก็ได้ เมื่อบุคคลมีการเรียนรู้
จากประสบการณ์ เกี่ยวกับอะไรก็ตาม ก็จะมีจิตสำนึกบริบูรณ์เพราะได้สังเกตเห็น คิดพิจารณาเกตุผล วิเคราะห์จนแน่ใจว่าถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควรประการใด เรียกว่า เจตคติเกิดจากจิตสำนึก แต่ในบางกรณีอาจเกิดจากจิตไร้สำนึก คือ ความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยมิได้มีการพิจารณาไตร่ตรอง
                6. เจตคติเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เนื่องจากเจตคติขึ้นอยู่กับประสบการณ์การรับรู้ ความรู้สึก ความคิดเห็น อารมณ์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ฉะนั้นอาจแปรผันได้
                7. ทิศทางหรือปริมาณของเจตคติ มีตั้งแต่พอใจอย่างยิ่ง ปานกลางจนถึงไม่พอใจ
อย่างยิ่ง ทิศทางของเจตคติมี
2 ประเภท คือ สนับสนุน หรือต่อต้าน
                8. เจตคติเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทั้งภายนอกและภายใน เราสามารถรู้ได้ว่า บุคคลใดมีเจตคติทางยอมรับหรือไม่ยอมรับ โดยสังเกตจากพฤติกรรมที่บุคคลนั้นแสดงออกอาจจะด้วยคำพูด สีหน้า หรือท่าทางว่าพอใจหรือไม่พอใจ
                9. เจตคติ จากการเลียนแบบ เจตคติก็สามารถถ่ายทอดสู่บุคคลอื่นๆ ได้ การคล้อย
ตามเป็นธรรมชาติที่พึงมี เช่น ถ้าเราเคารพรัก นับถือ พอใจและศรัทธาใครก็ยิ้ม ตามฉันทาคติที่ว่าพฤติกรรมที่เรายอมรับนั้นดีงาม จึงเลียนแบบเป็นเยี่ยงอย่างไม่ว่าจะเป็นการพูดจากท่าทางหรือนิสัย
                สุรางค์  โค้วตระกูล (2548, หน้า 246-247) ได้กล่าวว่า ลักษณะของเจตคติ ได้แก่
                1. เจตคติ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้บุคคลกล้าเผชิญ หรือหลีกเลี่ยง
สิ่งเร้า ฉะนันเจตคติจึงมีทั้งทางบวกและทางลบ
                2. สังคมประกิต มีความสำคัญต่อการพัฒนาเจตคติของเด็ก โดยเฉพาะเจตคติต่อ
อุดมคติ
                3. เจตคติมีองค์ประกอบ คือ เชิงความรู้สึก เชิงการรู้คิด และเชิงพฤติกรรม
                4. เจตคติเปลี่ยนแปลงได้ ตามสังคมที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิก
                สรุปว่า เจตคติมีลักษณะ 3 ประการ ดังนี้
                1. เจตคติเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์
                2. เจตคติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าจะมีความคงทนถาวรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม
                3. เจตคติเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่แสดงออกมาของแต่ละบุคคล
            4การวัดเจตคติ
                    ประกิต  รัตนสุวรรณ (2525, หน้า 330-332) ได้กล่าวถึง หลักสำคัญในการวัดเจตคติ ดังนี้
                1. ต้องยอมรับข้อตกลงเบื้องต้น (basic assumption) เกี่ยวกับการวัดเจตคติ คือ
                    1.1 เจตคติบุคคล ไม่สามารถวัดหรือสังเกตได้โดยตรง การวัดจะเป็นแบบวัด
ทางอ้อมโดยวัดจากแนวโน้มที่บุคคลจะแสดงออกหรือประพฤติอย่างสม่ำเสมอ
                    1.2 ความคิดเห็น ความรู้สึก หรือเจตคติของบุคคลนั้นจะมีลักษณะคงที่หรือ
คงเส้นคงวาอยู่ช่วงหนึ่ง
                2. การวัดเจตคติด้วยวิธีใดก็ตามต้องมีสิ่งประกอบ 3 อย่าง คือ วัดสิ่งเร้า วัดตัวบุคคล วัดการตอบสนอง                         
                4. การวัดเจตคติ จะต้องคำนึงถึงความเที่ยงตรงของการวัดเป็นพิเศษ
                5. สิ่งเร้าที่นิยมใช้ คือ ข้อความวัดเจตคติ (attitude statement) ซึ่งในสิ่งเร้าทางภาษาที่ใช้อธิบายถึงคุณค่า ลักษณะของสิ่งนั้นเพื่อให้บุคคลตอบสนองออกมาเป็นระดับความรู้สึก (attitude scale) เช่น มาก ปานกลาง น้อย
                6. การวัดเจตคติ เป็นการสรุปผลการตอบสนองของบุคคล จึงจำเป็นที่การวัดนั้นๆ จะต้องครอบคลุมคุณลักษณะต่างๆ ครบถ้วนทุกลักษณะ
                รวีวรรณ  อังคนุรักษ์พันธ์ (2533, หน้า 14-29) ได้กล่าวถึง การวัดเจตคติ ไว้ดังนี้
                1. การสัมภาษณ์ (interview) มี 2 ประเภท คือ
                    1.1 แบบมีโครงสร้าง (structed interview)
                    1.2 แบบไม่มีโครงสร้าง (unstructed interview)
                2. การสังเกต (observation) มี 2 ประเภท คือ
                    2.1 การสังเกตทางตรง (direct observation)
                    2.2 การสังเกตทางอ้อม (indirect observation)
                3. แบบสอบถาม (questionnaire) นิยมใช้ 3 รูปแบบ คือ
                    3.1 แบบสอบถามปลายเปิด (opened form)
                    3.2 แบบสอบถามปลายปิด (closed form)
                          3.2.1 แบบตรวจสอบรายการ (checklist)
                          3.2.2 แบบมาตราส่วนรายการ (rating scale)
                          3.2.3 แบบจัดอันดับ (rating scale)
                          3.2.4 แบบเติมคำสั้นๆ (completion)
                    3.3 แบบสอบถามชนิดรูปถาม
                4. ชนิดรายงานตนเอง (self-report)
                    4.1 เทอร์สโตน (thurstione)
                    4.2 ลิเคอร์ท (likert)
                    4.3 ออสกูด (Osgood)
                มาตราวัดเจตคติที่ใช้ในการวิจัยมีอยู่หลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึงที่นิยมใช้อยู่ 3 ชนิดคือ (พวงรัตน์ ทวีรัตน์, 2543, หน้า 106–108)
                1. วิธีของเทอร์สโตน มาตราวัดทัศนคติตามวิธีของเทอร์สโตน กำหนดช่วงความรู้สึกของคนที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น 11 ช่วง จากน้อยที่สุดจนถึงมากที่สุด แต่ละช่วงมีระยะห่างเท่าๆ กัน (Method of Equal – Appearing Intervals) ข้อความที่บรรจุลงในมาตราวัดจะต้องนำไปให้ผู้ตัดสิน (Judge) พิจารณาว่าควรอยู่ในตำแหน่งใดของมาตรา และแต่ละข้อความก็ต้องหาค่าประจำข้อความคือค่าระดับ (Scale Value - S) หาในรูปของมัธยฐาน (Median) และหาค่าควอไทล์ (Quartile Deviation - Q) จำนวนข้อความที่ประกอบเป็นมาตราวัดทัศนคติตามวิธีของเทอร์สโตน มีประมาณ 20 ข้อความ หรือมากกว่าเล็กน้อย
                2. วิธีของลิเคิร์ท มาตราวัดทัศนคติตามวิธีของลิเคิร์ท กำหนดช่วงความรู้สึกของคน
เป็น 5 ช่วง หรือ 5 ระดับ คือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย เฉยๆ ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ข้อความที่บรรจุลงในมาตราวัดประกอบด้วยข้อความที่แสดงความรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งในทางที่ดี (ทางบวก) และในทางที่ไม่ดี (ทางลบ) และมีจำนวนพอๆ กัน ข้อความเหล่านี้ก็อาจมีประมาณ
18–20 ข้อความ การกำหนดน้ำหนักคะแนนการตอบแต่ละตัวเลือกกระทำภายหลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลมาแล้ว โดยกำหนดตามวิธีให้น้ำหนัก (Arbitary Weighting Method) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด
                3. วิธีวัดทัศนคติโดยใช้ความหมายทางภาษา (Semantic Differential Scale) วิธีนี้
ผู้คิดคือ ออสกูด
(Osgood) สเกลแบบนี้ใช้คำคุณศัพท์มาอธิบายความหมายของสิ่งเร้า โดยมีคุณศัพท์ตรงข้ามกันเป็นขั้วของมาตราวัด ออสกูดใช้สิ่งเร้านี้ว่าสังกัป (Concept) คำคุณศัพท์ที่ใช้ในการอธิบายคุณลักษณะของสิ่งเร้านี้ ออสกูดพบว่าสามารถอธิบายได้ 3รูปแบบ หรือ 3 องค์ประกอบ คือ
                    3.1 องค์ประกอบด้านประเมินค่า (Evaluative Factor) เป็นองค์ประกอบที่แสดงออกด้านคุณค่า คำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบาย เช่น ดีชั่ว จริงเท็จ ฉลาดโง่ สวยน่าเกลียด
เป็นต้น
                    3.2 องค์ประกอบด้านศักยภาพ (Potential Factor) เป็นองค์ประกอบที่แสดงถึงกำลัง อำนาจ เช่น แข็งแรงอ่อนแอ หนักเบา หยาบละเอียด เป็นต้น
                    3.3 องค์ประกอบด้านกิจกรรม (Activity Factor) เป็นคุณศัพท์แสดงถึงลักษณะกิจกรรมต่างๆ เช่น ช้าเร็ว เฉื่อยชากระตือรือร้น เป็นต้น
                การวัดเจตคติให้ได้ผลถูกต้องนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะเจตคติของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันไปและขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น อายุ เพศ สติปัญญา สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ พัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์และสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา อาชีพ ฯลฯ อย่างไรก็ตามได้มีผู้สนใจในการศึกษาแนวทางในการวัดเจตคติของแต่ละบุคคล เช่น เจเกอร์และโฟรชลิช (Jager, & Frochlich, 1965, p.12-14) ได้เสนอวิธีการเก็บข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจตคติไว้ 4 ประการ ดังนี้ คือ
                1. ใช้วิธีสังเกต โดยสังเกตดูความเป็นไปของแต่ละกลุ่ม
                2. ดูจากการแสดงออก โดยการจับตาดูเจตคติต่างๆ ที่แต่ละบุคคลแสดงออก
                3. ดูจากการกระทำโดยการศึกษากิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลนั้นกระทำ
                4. ใช้แบบสอบถามวัดเจตคติโดยตรง
                เฮอร์ลอค (Hurlock, 1970, p.162) ได้เสนอวิธีวัดเจตคติของแต่ละบุคคลได้ 3 วิธี คือ
                1. ใช้การสังเกต
                2. ใช้การสัมภาษณ์
                3. ใช้แบบสอบถามวัดเจตคติ
                เพาเวลล์ (Powell, 1971, p.238) ได้เสนอวิธีวัดเจตคติไว้ ดังนี้
                1. ใช้แบบสอบถามวัดเจตคติแบบปลายปิด
                2. ใช้การสัมภาษณ์
                เดวิส (Davis, 1972, p.105) ได้เสนอวิธีวัดเจตคติไว้ ดังนี้
                1. ค้นหาสิ่งที่แต่ละบุคคลชอบทำในระยะปีที่ผ่านมา ถ้าเขายอมสละเวลาว่างที่มีอยู่
เพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะก็แสดงว่าเขามีเจตคติที่ดีต่อสิ่งนั้น
                2. ค้นหาวิธีที่แต่ละบุคคลมีความรู้เรื่องนั้นๆ มากน้อยเพียงใด ถ้าเขามีความรู้ในเรื่อง
นั้นมากก็แสดงว่าเขามีเจตคติที่ดีในเรื่องนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักความจริงที่ว่าคนเราย่อมจำแต่สิ่งที่ตนสนใจได้ดีกว่าสิ่งที่ตนไม่สนใจ ให้แต่ละคนแสดงความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบต่อข้อความที่กำหนด
             การวัดเจตคติมีหลายวิธี ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่วิธีที่ผู้วิจัยเห็นว่าเหมาะสมและนำมาใช้ได้แก่ วิธีของลิเคิร์ท ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                สเกลของลิเคิร์ท (The Lickert Scale) สเกลนี้สร้างโดยลิเคิร์ทในปี ค.. 1930
ลิเคิร์ท ได้เรียกมาตราวัดเจตคติของเขาว่า วิธีการประเมินแบบรวมค่า
(Method of Summated Rating) มีทั้งหมด 5 ระดับความรู้สึก ได้แก่

เห็นด้วยอย่างยิ่ง           เห็นด้วย           ไม่ค่อยเห็นด้วย     ไม่เห็นด้วย        ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง





5                 4                            3                         2                         1

ระดับความคิดเห็น                 ข้อเลือกเป็นข้อความ              ข้อเลือกเป็นข้อความ
ในเชิงบวก (Positive)                 ในเชิงลบ (Negative)

      คะแนน                                   คะแนน
เห็นด้วยอย่างยิ่ง                            5                                               1
เห็นด้วย                                     4                                               2
ไม่ค่อยเห็นด้วย                             3                                               3
ไม่เห็นด้วย                         2                                               4
ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง               1                                               5

                สำหรับคำถามที่แสดงเจตคติเชิงบวก ถ้ารวมคะแนนทั้งหมดของผู้ตอบถ้าได้คะแนนมากแสดงว่าผู้ตอบมีเจตคติที่ดีต่อสิ่งนั้นมาก ในตรงกันข้ามถ้าได้คะแนนน้อยแสดงว่าผู้ตอบมี
เจตคติไม่ดีต่อสิ่งนั้นมาก

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
               1.  งานวิจัยในประเทศ
                ศิริพร ฉันทานนท์ (2539, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจตามทฤษฎีโครงสร้างความรู้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า นักเรียนกลุ่มทดลอง มีความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความเข้าใจการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มทดลอง ที่ได้รับ
การสอนตามรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นกับนักเรียนกลุ่มควบคุมที่ได้รับการสอนอ่านด้วยวิธีปกติ พบว่า นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความเข้าใจในการอ่านสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม
                ชินะพัฒน์ ชื่นแดชุ่ม (2542, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาผลของการใช้การเรียนการสอนตามแนวคิดการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของไวกอตสกี ที่มีต่อทักษะภาษาไทยและ
การกำกับตนเอง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่านักเรียนกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนมีทักษะภาษาไทยด้านการอ่าน ฟัง เขียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนและสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนการกำกับตนเองไม่แตกต่างกัน
                ประทุม ศรีรักษา (2549, บทคัดย่อ) ได้ศึกษารูปแบบการสอนเชิงสังคมและวัฒนธรรมในบริบทของสังคมไทยพบว่า ในสังคมไทยนั้น คนที่อายุมากกว่าจะช่วยเหลือคนที่อายุน้อยกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมรูปแบบการสอนเชิงสังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย นอกจากนี้สังคมไทยเป็นสังคมชาวพุทธ มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เอื้อเฟื้อต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงถือว่าการสอนเชิงสังคมและวัฒนธรรมนั้น ส่งเสริมและเกื้อหนุนสังคมไทยอย่างมาก
                ราวีณา สมัครการ (2549, บทคัดย่อ) ได้ทำการเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านและเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึก phonics ประกอบการสอน กับการเรียนตามปกติ พบว่า ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้แบบฝึก phonics ประกอบการสอนสูงกว่านักเรียนที่ได้รับ
การเรียนด้วยวิธีปกติ และมีเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษดีกว่านักเรียนที่เรียนด้วยวิธีปกติ
อีกด้วย
                วีณารัตน์ พร้อมบูรณ์ (2549, บทคัดย่อ) ได้ทำการเปรียบเทียบทักษะการอ่านและความสนใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่เรียนด้วยวิธีสอนโดยใช้นิทานประกอบ
การสอนกับวิธีสอนตามปกติของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 พบว่า ทักษะ
การอ่านภาษาอังกฤษวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่
1 ที่เรียนด้วยวิธีสอนโดยใช้นิทานประกอบการสอนและการสอนตาปกติ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยที่วิธีสอนโดยใช้นิทานประกอบการสอนสูงกว่าวิธีสอนตามปกติ และความสนใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ของนักศึกษาที่เรียนโดยใช้นิทานประกอบการสอนสูงกว่าวิธีสอนตามปกติ
                          พุทธชาติ ทองกร (2549, บทคัอย่อ) ได้ศึกษานวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหา การจัด
การเรียนการสอนอ่านภาษาไทย พบว่า สภาพและสาเหตุของปัญหาการจัดการเรียนการสอนอ่านภาษาไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับตัวครูทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ครูยังยึดตัวเองเป็นสำคัญ การใช้สื่อการเรียนการสอนในระดับที่น้อยมาก รวมทั้งการวัดและประเมินผลที่เน้นในด้านความรู้ความจำ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึก
เบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน ไม่เห็นความสำคัญและไม่สนใจทักษะด้านการอ่าน รวมทั้งไม่มีนิสัยรัก
การอ่าน ในการนำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนอ่านภาษาไทยนั้น ได้นำเสนอตัวอย่างนวัตกรรม โดยแบ่งตามระดับของความเข้าใจในการอ่าน
4 ระดับ และทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสอนอ่านมี 3 ทฤษฎีด้วยกัน คือ ทฤษฎีทางจิตภาษาศาสตร์ (psycholinguistics) ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (schema theory) และทฤษฎีการสอนอ่านอย่างเป็นธรรมชาติ (natural approach)

                ผัสสพรรณ ถนอมพงษ์ชาติ (2550, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้วิธีการบันทึก
แบบคอร์เนลล์ พบว่า ค่าเฉลี่ยความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจก่อนเรียนสูงกว่าหลังเรียน ค่าเฉลี่ยความเครียดและความกังวลของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนอยู่ในระดับเดียวกัน คือ ปานกลาง ค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมที่ประเมินโดยครูแตกต่างกัน และค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการเรียนที่ประเมินโดยเพื่อน และโดยตนเองแตกต่างกัน
                กรรณิกา คณานันท์ (2551, บทคัดย่อ) ศึกษาการพัฒนากิจกรรมการสอนโดยใช้ยุทธศาสตร์เมตาคอกนิชันเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ เมตาคอกนิชันและเจตคติต่อกิจกรรมการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า กิจกรรม
การเรียนการสอนโดยใช้ยุทธศาสตร์เมตาคอกนิชันเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่าน
ภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจนั้นมีประสิทธิภาพ 79.49/77.33 สูงกว่าเกณฑ์ ประสิทธิภาพ 75/75 ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ความเข้าใจเมตาคอกนิชันหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และเจตคติอยู่ในระดับดีมาก
                ศศิกาญจน์ ชีถนอม (2553, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การเปรียบเทียบความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษและเจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา (รูปแบบที่ 1) ที่ใช้การสอนซึ่งเน้นวัฒนธรรมท้องถิ่นกับการสอนแบบเดิม พบว่า ความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกัน ความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษก่อนและหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมสูงขึ้น และเจตคติต่อการอ่านภาษาอังกฤษก่อนและหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมสูงขึ้น

                พราวพร นิลเขต (2554, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียน
การสอนภาษาอังกฤษตามแนวคิดการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของไวก็อตสกีเพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาและความสามารถในการกำกับตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการสอนภาษาอังกฤษตามแนวคิด
การพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของไวก็อตสกีหลังร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนเร่วมกิจกรรม ทักษะทางภาษาอังกฤษคิดเป็นร้อยละ
83.06 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ความสามารถในการกำกับตนเองของนักเรียนซึ่งนักเรียนประเมินตนเอง สูงกว่าก่อนร่วมกิจกรรม เมื่อครูทำการประเมินพบว่าหลังร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนเร่วมกิจกรรม เช่นกัน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ จากแบบวัดความสามารถในการกำกับตนเองเพิ่มเติมและแบบบันทึกการเรียนรู้ของนักเรียนพบว่านักเรียนสามารถตั้งเป้าหมาย วางแผนการทำงาน มีการดำเนินงาน ตลอดจนสามารถติดตามงานได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียนและนักเรียนกับผู้สอน
มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการให้ความช่วยเหลือกันและกัน เกิดความภาคภูมิใจในผลงาน
ของตนเอง ตลอดจนสามารถนำความรู้และทักษะภาษาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น